EN

แชร์

Copied!

“กลัว-โลภ-รัก” กับดักจิตวิทยาสูญเงินล้าน กับ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา

27 มิ.ย. 6813:37 น.
“กลัว-โลภ-รัก” กับดักจิตวิทยาสูญเงินล้าน กับ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา
มิจฉาชีพยุคใหม่ใช้จิตวิทยาลวงเหยื่อ สู่ช่องทางสูญเงินนับล้าน นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยา พาเจาะลึก “กลไกทางจิตวิทยา” ที่มิจฉาชีพใช้ล่อเหยื่อ พร้อมรู้ทันกลลวงมิจฉาชีพเพิ่มเติม ในวันที่ 30 มิ.ย. 68 นี้ ในงาน Thai PBS Verify Talk

แม้จะใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง แต่มิจฉาชีพยุคใหม่สามารถโน้มน้าวให้เหยื่อหลงเชื่อ นำไปสู่ความสูญเสียทั้งในระดับหลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านบาทได้ ในยุคดิจิทัล การหลอกลวงไม่ได้มาในรูปแบบของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่แฝงมาพร้อมกับเทคนิคทางจิตวิทยาที่สามารถควบคุมความคิดและอารมณ์ของเหยื่อได้อย่างแนบเนียน 

Thai PBS Verify ได้พูดคุยกับ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมอาชญากร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเจาะลึกถึงกลไกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการล่อลวงของมิจฉาชีพ 

ความกลัว – ความโลภ – ความรัก กับดักสู่การสูญเงินล้าน

ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยา อธิบายภาพกลไกที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมและล่อลวงเหยื่อ เรียกว่า “สิ่งเร้าทางอารมณ์” หรือ “Emotional Triggers” ว่า เป็นการใช้จิตวิทยาควบคุมและสื่อสารผ่านการกระตุ้นความกลัว ความโลภ และความรัก ความเชื่อของเหยื่อ จนเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในสมองของเหยื่อ และตอบสนองแบบมองข้ามเหตุและผลได้จนนำไปสู่การถูกล่อลวงจนเสียทรัพย์หรือความเสียหายตามมา

นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยา ได้อธิบายถึงกลไกการทำงานของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า “สิ่งเร้าทางอารมณ์” ทั้งสามอย่าง เป็นเครื่องมือหลักในการชักจูงเหยื่อ เมื่อบุคคลใดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลลวงทางจิตวิทยานี้แล้ว ความสามารถในการใช้เหตุผลและตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของ “ความโชคร้าย” แต่เป็นปรากฏการณ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ทางสมองและจิตวิทยา ดังนี้

  1. ความกลัว : มิจฉาชีพจะปลุกเร้าความกลัวผ่านคำขู่ เช่น “คุณกำลังมีหมายจับ” ทำให้เหยื่อกลัว โดยอ้างอำนาจการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
  2. ความโลภ : มิจฉาชีพมักเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เช่น ลงทุนเพียงหลักพัน ได้กำไรหลักแสน, ได้รางวัลฟรี
  3. ความเชื่อใจ ความรัก : มิจฉาชีพมักใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว ปลอมเป็นคนใกล้ชิด หรือสร้างเรื่องหลอกให้เหยื่อตกหลุมรัก การที่เหยื่อติดกับ Emotional Trigger ทำให้สมองส่วนการคิดวิเคราะห์ถูกกดทับ สมองส่วนอารมณ์จะทำงาน เมื่ออารมณ์นำเหตุผล เหยื่อจึงตอบสนองแบบยอมทำตามคำสั่งหรือข้อเสนอของมิจฉาชีพ โดยไม่สนเหตุและผล

“เราจะสังเกตได้ว่า เวลาเหยื่อถูกอารมณ์ชักนำ สมองส่วนที่ใช้เหตุผลมักจะไม่ทำงาน เรามักจะไม่ไตร่ตรอง มิจฉาชีพจึงมักเร่งให้เราทำเร็ว ๆ เช่น มิจฉาชีพกดดันเราว่า “คุณมีเวลาแค่ชั่วโมงเดียว” อะไรก็ตามที่เราถูกเร่งให้ตัดสินใจ จะทำให้เรากดดันและขาดสติ ไม่สามารถคิดได้ชัดเจน” ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา

นอกจากนี้ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา กล่าวว่า การหลอกลวงผ่านความรัก หรือ Romance Scam ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่อาศัยกลวิธีทางจิตวิทยาอย่างแนบเนียน มิจฉาชีพจะขายความฝัน เสนอทั้งความโลภและความรัก ในรูปแบบ Love Bombing เป็นกลยุทธ์หนึ่งของโรแมนซ์สแกม จนสามารถทำให้เหยื่อสูญเงินจำนวนมากได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในรูปแบบของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่มีการพูดจาชักจูงอย่างเป็นระบบ 

กลุ่มเป้าหมายสำคัญของโรแมนซ์สแกมมักเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากอาจจะยังไม่คุ้นชินกับทักษะด้านดิจิทัล มีความกังวลต่ออำนาจรัฐ และมักกลัวว่าความผิดพลาดของตนเองจะส่งผลกระทบต่อลูกหลาน 

“ผู้สูงวัยที่เกษียณแล้ว มักมีเงินเก็บ อยู่บ้านตามลำพัง และรู้สึกเหงา จึงตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพที่ใช้เวลาในการ “หว่านล้อม” ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงหลายเดือนหรือเป็นปี โดยที่ไม่เคยพบหน้ากันจริง ๆ มิจฉาชีพเหล่านี้มักสร้างโปรไฟล์ปลอม อ้างเป็นทหาร คนต่างชาติ วิศวกร หรือผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพน่าเชื่อถือ พร้อมใช้รูปภาพที่น่าดึงดูดเพื่อสร้างความน่าไว้วางใจ หลายกรณี เหยื่อหลงเชื่อด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบรักแท้ หรือมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีคู่รักชาวต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นกับดักที่ออกแบบมาอย่างแยบยลเพื่อเจาะจงโจมตีความรู้สึกและความต้องการลึก ๆ ของมนุษย์”

การโทษเหยื่อ (Victim Blaming) อุปสรรคหลักในการแก้ปัญหา

ทุกหน้าข่าวที่มีเหยื่อเกิดจากการถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซนเตอร์ มักจะไม่ได้รับความเห็นใจจากสังคมหรือตั้งคำถามไปสู่การช่วยเหลือและการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่มักจะถูกผลักให้เป็นความผิดพลาดส่วนตัว ว่าขาดความรู้หรือเป็นเพียงเรื่องโชคร้ายส่วนตัว

ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา ให้ความคิดเห็นว่า ผู้คนมักคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวและตัวเองอาจจะไม่มีทางตกเป็นเหยื่อ ทำให้การตกเป็นเหยื่อถูกโทษโดยสังคม หรือ Victim Blaming 

“มิจฉาชีพมักใช้ความหวังในการหลอกคนจน และใช้ความกลัว ในการหลอกคนรวย คนรวยมักกลัวการมีเรื่องมีราว ดังนั้น มิจฉาชีพจึงใช้จุดอ่อนของแต่ละชนชั้นทางเศรษฐกิจมาหลอกลวงคนมักเชื่อว่าคนโง่เท่านั้นถึงจะโดนหลอก ทั้งที่เหยื่อจำนวนมากมีการศึกษา ตำแหน่งการงานดี แต่ก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้”

ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา อธิบายว่า หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่มิจฉาชีพใช้ในการควบคุมเหยื่อคือการพยายามทำให้เหยื่อ “แยกตัวออกมาอยู่ตามลำพัง” เพื่อให้สามารถสื่อสารได้โดยไม่มีบุคคลอื่นคอยให้คำปรึกษาหรือท้วงติง ระหว่างการพูดคุย มิจฉาชีพจะใช้น้ำเสียงที่ดูจริงใจ ผสมผสานวาทศิลป์ที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าสถานการณ์รอบตัวรุนแรงเกินกว่าจะรอคำแนะนำจากใครได้ กลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายบ่อยครั้งคือผู้ที่กำลังเผชิญภาวะเปราะบางทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีความเครียดเรื้อรัง เพราะบุคคลเหล่านี้จะตอบสนองต่อความหวังหรือความกลัวได้มากกว่าคนทั่วไป 

อีกกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ วัยทำงานที่ใช้เทคโนโลยีเป็นประจำ แต่ขาดความรู้เท่าทันเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ 

หยุดคิด 45 นาที ก่อนโอน ทางรอดจากแก๊งคอลฯ

หากได้รับสายจากบุคคลใดที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และล่อลวงให้เรารีบนำทรัพย์สินออกจากบัญชีหรือโอนเงินไปยังบัญชีอื่น คำแนะนำที่สำคัญที่สุดคือ ให้กดตัดสายทันที อย่ารีบทำตามโดยไม่ไตร่ตรอง เพราะการตัดสินใจที่เร่งรีบภายใต้แรงกดดันคือช่องโหว่สำคัญที่มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม 

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ควรหยุดคิด พิจารณาข้อมูล และให้ใช้เวลาอย่างน้อย 45–60 นาที ในการหาคำตอบและตรวจสอบต้นสายปลายเหตุให้แน่ชัดว่าเรื่องที่ได้ยินนั้น จริงหรือไม่จริง พยายามเช็กข้อมูลจากหลายช่องทาง เช่น โทรหาญาติ หาข่าวจากเว็บไซต์ทางการ ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าโอนเงิน และ อย่าต่อบทสนทนา กับบุคคลที่น่าสงสัย เพราะแม้จะรู้ตัวว่าอีกฝ่ายเป็นมิจฉาชีพ พอยิ่งคุย ยิ่งเปิดช่องให้ถูกโน้มน้าวทางอารมณ์ จนสุดท้ายก็อาจยอมโอนเงินโดยไม่รู้ตัวได้” ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา

สำหรับข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเพียงเท่านั้น สามารถมาติดตามข้อมูลเกี่ยวกลลวงมิจฉาชีพแบบหลักจิตวิทยากับ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษาภายในงาน “Thai PBS Verify Talk: #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง” ซึ่งรวบรรวมเอา 13 Speakers 12 Sessions ไว้บนเวทีทอล์กเดียวกัน ที่จะมาเติมเต็มข้อมูล เจาะลึกทุกแง่มุม เพื่อให้คุณรู้ก่อนแชร์ แยกแยะก่อนเชื่อ หยุดแชร์ข่าวลวงให้หมดไปจากหน้าฟีด ในวันจันทร์ที่ 30 มิ.ย. 68 เวลา 12.30 – 16.45 น. ณ คอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต พร้อมชมบูทนิทรรศการจาก Thai PBS Verify และรายการสถานีประชาชน

ลงทะเบียนร่วมงานฟรี

แล้วพบกัน ! วันจันทร์ที่ 30 มิ.ย. 68 เวลา 12.30 – 16.45 น. ณ คอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต

ผู้ที่สนใจลงทะเบียนร่วมงานฟรี ! ทาง LINE @ThaiPBS เพิ่มเพื่อนได้ที่ www.thaipbs.or.th/AddLINE แล้วพิมพ์คำว่า “ลงทะเบียน” ลงในช่องแชต หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025