กว่า 8 ปี ของการล้มลุกคลุกคลาน ตั้งอยู่ ถูกยุบ และลุกขึ้นของพรรคการเมืองที่เป็นภาพจำตัวแทนของคนรุ่นใหม่ จุดกระแสการเมืองจนเกิดการมีส่วนของประชาชนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผ่านการเคลื่อนไหวบนหน้าม่านการเมือง จากพรรคอนาคตใหม่ เป็นก้าวไกล สู่พรรคประชาชน และต้องเผชิญหน้ากับสงครามข้อมูลข่าวปลอมอยู่บ่อยครั้ง
Thai PBS Verify ได้พูดคุยกับ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ถึงบทบาทของข่าวปลอมในพื้นที่การเมืองว่า ข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องใหม่ มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดความน่าเชื่อถือทางการเมืองต่อนักการเมืองมาอย่างยาวนาน
พรรณิการ์ วานิช กล่าวว่า นักการเมืองต้องการความเชื่อมั่นจากประชาชน ความเชื่อมั่นนั้นรวมไปถึง ความเชื่อมั่นในตัวบุคคล นโยบาย อุดมการณ์ทางการเมือง ไปจนเรื่องส่วนตัวของนักการเมืองในหลาย ๆ ประเทศ เรื่องส่วนตัวของนักการเมืองจะถูกตรวจสอบ ถูกใส่ใจอย่างใกล้ชิดจากประชาชน วิธีการที่ข่าวปลอมทำงาน คือ การสร้างข้อมูลเท็จเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ และบางครั้งถูกนำมาลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
“ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลก็โดนโจมตีด้วยข่าวปลอม เรื่องตัดบำนาญข้าราชการ ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจว่า หากเป็นรัฐบาลจะทำให้ข้าราชการสูญเสียผลประโยชน์”
ข่าวปลอม : จากพรรคประชาชนพม่าสู่พรรคเพื่อเขมร
นอกจากนี้ ข่าวปลอมที่ถูกสร้างเป็นวาทกรรมเรื่องการขายชาติ จนเกิดการถูกเรียกว่า พรรคประชาชนพม่า จากกรณีที่พรรคประชาชนเคยเสนอนโยบายเกี่ยวกรณีผู้อพยพและแรงงานเมียนมา หรือกรณีพรรคเพื่อไทยในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา พรรณิการ์กล่าวว่า ข่าวปลอมเชิงอคติเหล่านี้ เป็นสิ่งแก้ไขยากในยุคโซเชียลมีเดีย มีความน่ากลัวและอันตรายกว่าข่าวปลอมจากเทคโนโลยีการใช้ AI
“เป็นการปล่อยข่าวเท็จซ้ำ ๆ ทำให้คนฝังใจไปว่า พรรคประชาชน คือพรรคประชาชนพม่า ถูกข่าวปลอมว่าพรรคประชาชนจะออกบัตรประชาชนให้กับคนเมียนมาหรือแรงงานต่างด้าว”
“ข่าวปลอมที่สร้างจาก AI คลิปฮุนเซนลูบหัวภูมิธรรม คนดูแล้วก็สามารถรู้ได้ว่าปลอม แต่ข่าวปลอมประเภทผลิตซ้ำ ๆ เนื้อหาไม่ได้หวือหวามาก แต่ถูกคิดมาอย่างดีแล้วว่า สามารถทำลายความเชื่อมั่นระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด”
เพศหญิงในสภา: เมื่อความสามารถถูกบดบังจากอคติข่าวปลอม
อีกด้านหนึ่งในพื้นที่การทำงานการเมือง มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างข่าวปลอม ถูกโจมตีในรูปแบบที่แตกต่างจากนักการเมืองผู้ชายโดน
“ช่วงหนึ่ง มีความพยายามจะผลิตซ้ำเรื่อง “ช่อสายแฟ” คือจะสร้างข้อมูลโจมตีว่า วัน ๆ เราเป็นนักการเมืองที่สนใจแต่การแต่งตัว ไม่ทำงานทำการ คุณแพทองธาร ก็โดนในลักษณะเดียวกัน เป็นเรื่องที่นักการเมืองผู้ชายจะไม่โดน”
นอกจากนี้ พรรณิการ์ ให้ความคิดเห็นถึงประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว เรื่องส่วนตัว หรือแม้กระทั่งเรื่องในเชิงความสัมพันธ์ส่วนลึก มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีนักการเมืองหญิง โดยเฉพาะผู้หญิงจากชนชั้นกลางที่ไม่มีภูมิหลังหรือสายสัมพันธ์ทางการเมือง จะถูกตั้งคำถามถึงที่มาและความชอบธรรมในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งหรือบทบาทสำคัญในทางการเมือง หากไม่ใช่ทายาทหรือญาติของนักการเมืองระดับสูง ก็มักถูกใส่ร้ายว่าอาจมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้มีอำนาจ
แนวคิดดังกล่าวสะท้อนอคติทางเพศที่ฝังรากลึกในสังคม และปรากฏให้เห็นไม่เพียงในแวดวงการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้หญิงในหลากหลายวงการทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ที่มักเผชิญกับการตั้งข้อสงสัยว่าความสำเร็จของพวกเธอว่าเกิดขึ้นจากการพึ่งพาอำนาจของผู้นำชาย ไม่ว่าจะในฐานะบุตรสาว หรือในสถานะอื่น ๆ เช่น ชู้สาว เป็นต้น
“ยกตัวอย่าง กรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เคยถูกโจมตีในลักษณะนี้ แต่คุณหญิงก็ได้สร้างบทบาทของตัวเอง จนเป็นที่รู้จักไม่ใช่เพราะเป็นลูกหรือภรรยาใคร”
“อีกทางหนึ่งสังคมมีความก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ว่าจะดิฉัน
หรือคุณแพทองธาร หากโดนโจมตีเรื่องการแต่งตัว คนจำนวนมากไม่ซื้อ เกิดกระแสตีกลับคนโจมตีมากขึ้นว่าการแต่งตัวเป็นเรื่องปัจเจก ขอแค่เหมาะสมก็เพียงพอ”
สำหรับข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเพียงเท่านั้น สามารถมาติดตามข้อมูลเกี่ยวกับข่าวปลอมบนพื้นที่การเมือง กับ พรรณิการ์ วานิช ในงาน “Thai PBS Verify Talk: #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง” ซึ่งรวบรรวมเอา 13 Speakers 12 Sessions ไว้บนเวทีทอล์กเดียวกัน ที่จะมาเติมเต็มข้อมูล เจาะลึกทุกแง่มุม เพื่อให้คุณรู้ก่อนแชร์ แยกแยะก่อนเชื่อ หยุดแชร์ข่าวลวงให้หมดไปจากหน้าฟีด ในวันจันทร์ที่ 30 มิ.ย. 68 เวลา 12.30 – 16.45 น. ณ คอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต พร้อมชมบูทนิทรรศการจาก Thai PBS Verify และรายการสถานีประชาชน
ลงทะเบียนร่วมงานฟรี
แล้วพบกัน ! วันจันทร์ที่ 30 มิ.ย. 68 เวลา 12.30 – 16.45 น. ณ คอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต
ผู้ที่สนใจลงทะเบียนร่วมงานฟรี ! ทาง LINE @ThaiPBS เพิ่มเพื่อนได้ที่ www.thaipbs.or.th/AddLINE แล้วพิมพ์คำว่า “ลงทะเบียน” ลงในช่องแชต หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025