EN

แชร์

Copied!

Thai PBS Verify ด่านหน้าปกป้องความจริงในยุค AI

1 ก.ค. 6816:37 น.
Thai PBS Verify ด่านหน้าปกป้องความจริงในยุค AI
รับมืออย่างไรในยุคสงครามข้อมูล และภัยเงียบจาก AI Deepfake หาคำตอบได้จาก ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่จะมาระบุถึงก้าวสำคัญของการต่อสู้กับข่าวลวงและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สังคมต้องก้าวอย่างไร และสื่อจะมีบทบาทอย่างไรในยุคข้อมูลข่าวลวง ติดตามได้ที่นี่

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการรับมือของ Thai PBS ต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในงาน Thai PBS Verify Talk 2025  ว่า AI มีผลต่อ  สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการเข้าถึงข้อมูลอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อแนวคิดเรื่อง “ความมั่นคงทางปัญญา” เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นในแวดวงการวางแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ เราจึงต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าใครกำหนดทิศทางของ AI และใครได้ประโยชน์

เวทีวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ทั้ง เทคโนโลยีและการเมืองต่างก็เคลื่อนไหวอย่างซับซ้อน และ AI ก็ไม่ได้รอให้เราตั้งรับ แต่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับข้อมูล

ความท้าทายในยุคแห่งความซับซ้อน

AI กำลังกลายเป็นอิทธิพลเงียบที่แทรกซึมในชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ปากท้อง รายได้ ไปจนถึงการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลายคนต่างรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของเทคโนโลยีที่แฝงตัวอยู่ในทุกมิติของสังคม

อย่างที่เราทราบและสัมผัสได้คือ สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และในสถานการณ์เช่นนี้ เทคโนโลยีอย่าง AI ก็ถูกนำมาใช้สร้างและกระจายข่าวลวงจำนวนมาก ซ้ำร้ายยังพาเราเข้าไปอยู่ใน “ห้องเสียงสะท้อน” หรือ Echo Chamber ที่จำกัดมุมมอง และทำให้เรารับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียว

ประชาชนในเวลานี้ต่างโหยหาคำตอบที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็น ความไม่ไว้วางใจต่อสถาบันการเมืองต่าง ๆ ที่เริ่มเปราะบางลงทุกขณะ ความเชื่อมั่นที่เคยมี กลายเป็นสิ่งหายากในสังคมปัจจุบัน

ทำให้ “ความเชื่อมั่น” กลายเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังคม และในหลายกรณี มันกลับกลายเป็นคำถามที่ไม่มีใครกล้าตอบได้อย่างมั่นใจว่า เราจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นนี้ได้อย่างไรในโลกที่ความจริงและเท็จแทบจะแยกไม่ออก

ทำไม “ความเชื่อมั่น” จึงมีค่าสูงสุดในสังคม

รศ.ดร. วิลาสินี ย้ำว่า สื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างสังคมแห่งความไว้วางใจกันและกัน และในช่วงเวลาที่สังคมเผชิญกับความสับสนและข้อมูลที่ยากจะแยกแยะ นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ สื่อสาธารณะต้องจับมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนกลับคืนมา

ส่วนบทบาทของ ไทยพีบีเอส ภายใต้สถานะองค์กรสื่อ คือ การตรวจสอบและยุติการแพร่กระจายของข่าวลือ ข่าวลวง และข่าวหลอกลวงทั้งหลาย พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนมีเครื่องมือในการกลั่นกรองข้อมูล เพื่อแยกแยะความจริงจากสิ่งที่บิดเบือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อผู้คนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตนเอง ความเชื่อมั่นในสังคมก็จะค่อย ๆ ฟื้นกลับมา

“บทบาทของไทยพีบีเอสในยุค AI คือ การแปลความซับซ้อนของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เข้าใจง่าย เสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และต่อยอดไปถึงการรู้เท่าทัน AI ผ่านการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชน พร้อมกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการใช้เทคโนโลยีนี้ในชีวิตประจำวัน และร่วมตรวจสอบนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสังคม รวมทั้งเป็นหลักประกันว่าเสียงของผู้ที่เปราะบาง จะไม่ถูกละเลยจากนโยบายในเรื่องนี้ ” รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว 

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ ไทยพีบีเอส คือ การเป็น “เวทีปลอดภัย” ที่เปิดให้ทุกเสียงได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการใช้ AI ของประเทศ อย่างสร้างสรรค์ มีจริยธรรม

 Thai PBS Verify ด่านหน้าปกป้องความจริงในยุค AI

Thai PBS Verify ด่านหน้าตรวจสอบความจริง

Thai PBS Verify คือความพยายามของเครือข่ายของ ไทยพีบีเอส ในการร่วมกันปกป้องความจริงในยุค AI โครงการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริง ได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายมาตั้งแต่ปี 2567

ทีมงานมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับบริการนี้ให้เทียบเคียงกับ มาตรฐาน IFCN (International Fact-Checking Network) ภายในปลายปี 2568 ซึ่งต้องขอชื่นชมกับความก้าวหน้าเหล่านี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นการก้าวที่สำคัญของสื่อสาธารณะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ไทยพีบีเอส ต้องเผชิญในขั้นตอนต่อไป ไม่ใช่เพียงการรับมือกับข่าวปลอมที่เกิดจากมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงข่าวปลอมที่ถูกผลิตซ้ำด้วย AI ความเร็ว  ซึ่งมีความแนบเนียนและซับซ้อนมากขึ้น การทำงานจึงต้องเข้มข้นกว่าเดิม ทั้งในด้านการตรวจสอบข้อมูลที่บิดเบือน และการวิเคราะห์เนื้อหาที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะในรูปแบบของ Deepfake

“เราต้องทำงานหนักมากขึ้น ไม่เพียงตรวจสอบข้อมูลที่คาดเคลื่อน และบิดเบือนเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์เนื้อหา ที่สร้างด้วยเทคโนโลยี AI หรือ Deepfakes เพื่อบอกประชาชน และนำผลการตรวจสอบเข้ามารายงานอย่างเที่ยงตรงแลโปร่งใส และมากกว่านั้นร่วมกันกำหนดกรอบแนวปฏิบัติ ด้านจริยธรรมและวิชาชีพสื่อด้วย” รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว 

นอกจากนี้ Thai PBS Verify ยังมุ่งมั่นในการร่วมกำหนดกรอบแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมและวิชาชีพสื่อ เพื่อให้การทำงานของคนทำสื่อมีมาตรฐาน และพร้อมรับมือกับบริบทใหม่ของข้อมูลข่าวสารในยุค AI อย่างมีความรับผิดชอบ

 Thai PBS Verify ด่านหน้าปกป้องความจริงในยุค AI

เมื่อจริยธรรมคือหัวใจของวิชาชีพสื่อ

สำหรับ “Thai PBS Verify” ไม่ใช่แค่หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking) เท่านั้น แต่เป็นด่านหน้าสำคัญในการปกป้องความจริงในยุคดิจิทัล บริการนี้ยังเป็นความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน เพื่อทำให้การพยายามในการปกป้องความจริงนั้นสำเร็จ 

“จุดยืนของ Thai PBS Verify คือการเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกกระทำและผลิตซ้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI และ Deepfake แต่ในขณะเดียวกัน จริยธรรมของสื่อยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่คนทำสื่อต้องยึดถือเป็นหลัก” รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว

เพราะไม่ว่าจะมีเครื่องมือช่วยตรวจสอบมากมายเพียงใด หากผู้ทำสื่อไม่ยึดมั่นในกรอบจริยธรรม เรื่องของการบิดเบือนหรือเผยแพร่ข้อมูลผิดพลาดก็ยังคงเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การทำหน้าที่ของ Thai PBS Verify คือทั้งเครื่องมือในการตรวจสอบของประชาชน และเป็นการสร้างกรอบจริยธรรมให้กับวิชาชีพสื่อเพื่อเป็นตัวกำกับไม่ให้เกิดปัญหาการผลิตข้อมูลที่ผิดซ้ำ

รับชมย้อนหลังได้คลิกที่นี่