EN

แชร์

Copied!

เมื่อข่าวลือระบาดเร็วกว่าความจริง รองผู้ว่า ฯ กทม. เปิดกลยุทธ์สื่อสารฝ่าวิกฤต

8 ก.ค. 6816:46 น.
เมื่อข่าวลือระบาดเร็วกว่าความจริง รองผู้ว่า ฯ กทม. เปิดกลยุทธ์สื่อสารฝ่าวิกฤต
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้สร้างความตกใจและสะเทือนใจให้กับคนทั้งประเทศ เมื่อตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ถล่มลงมา ส่งผลให้เกิดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ท่ามกลางความตกใจและสับสนของเหตุการณ์ครั้งนี้

หนึ่งในคนที่ถูกกล่าวถึง จนกลายเป็นไวรัลคือ รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยความสามารถในการตอบคำถามสื่อมวลชนได้อย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและความพร้อมในการจัดการวิกฤต การทำงานของ รศ. ดร.ทวิดา ในครั้งนี้ยังต้องสู้กับข่าวลือและข่าวลวง ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับสามารถสื่อสารจนได้รับคำชม ทำให้หลายคนอยากจะรู้วิธีการทำงานและแนวทางในการสื่อสารในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

การสื่อสารต้องเริ่มในภาวะปกติ ไม่ใช่รอให้เกิดวิกฤต

รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้ให้เห็นว่า การสื่อสารหากไม่เตรียมพร้อมในภาวะปกติก่อน จะไม่สามารถทำได้ในภาวะวิกฤต ซึ่งในภาวะปกติ คนฟังมีอารมณ์ในการเลือกฟัง แต่ในภาวะวิกฤต คนฟังจะเลือกฟังแค่ข้อมูลแรกเท่านั้น และข้อมูลอะไรก็ตามหากหลุดไปจากโซเชียลแล้ว ข้อมูลที่ใช้อธิบายตามหลังมาคนจะให้ความสนใจน้อย เนื่องจากข้อมูลที่สื่อสารไป กทม. ไม่สามารถคุมสื่อได้ หากเกิดภาวะวิกฤต กทม. ต้องเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนในการสื่อสารข้อมูลออกไป

“ข่าวลือที่ออกไปมันเป็นวิกฤตได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องรอให้เกิดแล้วค่อยสื่อสาร”รศ. ดร.ทวิดา กล่าว

ทั้งนี้ รศ. ดร.ทวิดา ยกตัวอย่างที่ กทม. เจอ เช่น มีคนเอารูปของ กทม. ตัดต้นไม้ แล้วไปบอกว่า กทม. ตัดต้นไม้หมดเลยริมคลอง ทั้งช่องนนทรีและคลองโอ่งอ่าง หรือไป Copy รูป แล้วก็บอกว่าเป็นรถของ กทม.

เมื่อข่าวลือระบาดเร็วกว่าความจริง - รองผู้ว่า ฯ กทม. เปิดกลยุทธ์สื่อสารฝ่าวิกฤต

รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ตึก สตง. กับการรับมือแผ่นดินไหวอย่างเป็นระบบ

รศ. ดร.ทวิดา กล่าวถึงการทำงานในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า กทม. ใช้วิธีการทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Traffy Fondue และ Risk Map โดยให้ประชาชนแจ้งเข้ามาที่ Traffy Fondue ทั้งหมด 21,000 เคส หลังจากนั้นใช้การประชุมออนไลน์กับผู้อำนวยการเขตในกทม. และรายงานผ่าน CCTV เปิดภาพเหตุการณ์ให้กับประชาชนและสื่อมวลชนได้เข้ามาดู

สำหรับการจัดการพื้นที่ ก็จะต้องจัดการอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องความพร้อมเครื่องจักรในการเข้าถึงพื้นที่

ส่วนการสื่อสารข้อมูล จะเน้นการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร แพทย์ และหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เพราะในวันที่เกิดเหตุการณ์นี้ คณะผู้บริหารถูกตั้งคำถามหลายประเด็น รวมถึงการตอบคำถามเรื่องการกั้นกำแพงและจำกัดพื้นที่ในการปฏิบัติการเช่นกัน

เมื่อข่าวลือระบาดเร็วกว่าความจริง - รองผู้ว่า ฯ กทม. เปิดกลยุทธ์สื่อสารฝ่าวิกฤต

รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การสื่อสารในวิกฤต ต้องแม่นยำ กระชับ และทันเวลา

รศ. ดร.ทวิดา กล่าวย้ำ การสื่อสารที่ดีในภาวะวิกฤตคือ การสื่อสารที่ทำให้ความขัดแย้งลดลง เพราะการสื่อสารในภาวะวิกฤตไม่ได้เป็นการสื่อสารเพื่อการรับรู้ แต่เป็นการแสดงความต้องการเพื่อให้มีพฤติกรรมตอบสนอง เช่น ความร่วมมือ หรือการอพยพ

ส่วนการสื่อสารข้อมูลไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือประชาชนก็ต้องสอบถามข้อมูลหรือจำลองตัวเองว่าหากเป็นประชาชนอยากทราบข้อมูลเรื่องอะไร เพื่อให้ กทม. เป็นหนึ่งในทางเลือกของข้อมูลในช่วงนั้น

ความท้าทายในภาวะวิกฤต

สำหรับการทำงานในภาวะวิกฤต รศ. ดร.ทวิดามองว่า ไม่เคยทำคนเดียว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาที่เจอข้อผิดพลาด ถ้าเป็นฝ่ายพลาด ก็แสดงการขอโทษ พร้อมบอกวิธีแก้ไข และย้ำอย่าโยนความผิดให้คนอื่น

“กระบวนการทำงานนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างให้ กทม. ในการทำงานเพื่อให้เกิดการประสานงาน ความร่วมมือ ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และกลับมาไว้ใจกทม.มากขึ้น” รศ. ดร.ทวิดา กล่าว

รับชมย้อนหลังได้คลิกที่นี่

รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025

“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่

• Website : www.thaipbs.or.th/Verify
• Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
• IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
• TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
• LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify