คุณกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall) ได้เปิดเผยสถิติการหลอกลวงในปีที่ผ่านมา พร้อมจัดอันดับวิธีที่การหลอกลวงออนไลน์ของมิจฉาชีพที่มักใช้ ภายในงาน Thai PBS Verify Talk #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง
SMS กลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ
สถิติการหลอกลวงในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 112% โดยการเติบโตดังกล่าวมาจาก 2 ช่องทาง คือ การหลอกลวงผ่าน SMS โดยมีจำนวนสูงถึง 130 ล้านครั้ง และอีกช่องทางคือ การหลอกลวงผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งมีสายเรียกเข้าจากมิจฉาชีพ อยู่ที่ 38 ล้านครั้งตลอดทั้งปี
เหตุผลที่มิจฉาชีพเลือกใช้ SMS เนื่องจากการส่งข้อความไม่ใช่เรื่องยาก มีต้นทุนต่ำ สามารถส่งได้ในปริมาณมาก และไม่ต้องคิดเนื้อหาใหม่ ๆ มาหลอกให้มีความยุ่งยาก
“ใน 1 วัน แพลตฟอร์มสามารถป้องกันคนไทยจากมิจฉาชีพได้มากกว่า 460,000 ครั้งแต่จริง ๆ แล้ว ในหนึ่งวันมีคนถูกหลอกมากกว่าจำนวนที่เห็นนี้” คุณกชศร กล่าว

คุณกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall)
ผู้ใช้ Whoscall ในไทยทะลุ 30 ล้านคน สัญญาณเตือนภัยโทรหลอกลวง
จำนวนผู้ใช้งาน Whoscall ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยขึ้นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ความจริงแล้ว ตัวเลขอันดับ 1 นี้ไม่ใช่สิ่งที่ภูมิใจ เพราะหากเติบโตมาก ก็แปลว่าภัยจากมิจฉาชีพยังเติบโตอยู่เช่นกัน
5 อันดับ SMS หลอกลวงที่คนไทยโดนมากที่สุด
จากสถิติการหลอกลวงผ่าน SMS ที่เพิ่มขึ้นถึง 130 ล้านครั้ง Whoscall ได้จัดอันดับ ประเภทข้อความ SMS ที่คนไทยโดนหลอกมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
- เว็บพนันออนไลน์ หลอกให้คลิกลิงก์เพื่อรับ “เครดิตเล่นฟรี”
- พัสดุติดค้าง แจ้งเตือนว่ามีพัสดุตกค้างพร้อมแนบเบอร์หรือลิงก์ให้คลิกติดต่อกลับ
- เงินกู้นอกระบบ เสนอเงินกู้ที่อนุมัติได้ง่าย เพียงตอบกลับ
- แอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ เช่น การไฟฟ้า โทรเตือนว่าค้างชำระค่าไฟ ต้องรีบโอนเงิน
- หลอกให้ลงทุน โดยหลอกให้ลงทุนผ่านหุ้นหรือกองทุน เน้นย้ำด้วยประโยคได้ผลตอบแทนดี
4 กลลวงยอดนิยมทางโทรศัพท์
ขณะเดียวกันยังพบสายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพที่โทรเข้ามาอยู่ที่ 38 ล้านครั้ง ซึ่งกลลวงที่มิจฉาชีพนิยมใช้ในการโทรหลอกลวงสูงสุด 4 รูปแบบ คือ
- หลอกขายสินค้า โทรเสนอขายของ พร้อมเร่งให้โอนเงินทันที
- แอบอ้างเป็นองค์กรหรือบริษัท อ้างว่าโทรจากธนาคาร หน่วยงานราชการ หรือบริษัทขนส่ง เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงิน
- หลอกทวงหนี้ อ้างว่าผู้รับสายเป็นหนี้ หากไม่จ่ายจะถูกฟ้องศาล
- เงินกู้ง่าย อนุมัติไว เสนอโปรโมชันกู้เงินทันที โดยไม่ต้องใช้เอกสารมาก

คุณกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall)
ฟีเจอร์ใหม่เสริมการป้องกันมิจฉาชีพ
นอกจากการป้องกันมิจฉาชีพจาก SMS และเบอร์โทรศัพท์แล้ว Whoscall ยังได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อเสริมการป้องกันให้ครอบคลุมมากขึ้นได้แก่
- Content Checker ตรวจสอบข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถบันทึกหน้าจอข้อความต้องสงสัยจากโซเชียลมีเดีย แล้วนำมาตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ทันที พร้อมทั้งแนะนำแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจอย่างรอบคอบ
- Scam Alert อัปเดตเทรนด์การหลอกลวงที่กำลังเกิดขึ้น
- Voice Alert ระบบเตือนด้วยเสียงเมื่อตรวจพบสายต้องสงสัย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น
- ID Security ตรวจสอบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว (เบอร์โทร, อีเมล) ใน Dark Web
ทั้งนี้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ถือเป็น agenda ของชาติ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบจากการหลอกลวง ไม่ว่าจะเรียนสูงหรือต่ำ มีฐานะหรือไม่ มิจฉาชีพไม่ได้เลือกใคร หลอกก็คือหลอกทั้งหมด
“สิ่งที่ Whoscall พยายามทำ คือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนรู้ตัวก่อนจะรับสายหรือรับ SMS เป็นการป้องกันด่านแรกให้กับประชาชน” คุณกชศร กล่าว
รับชมย้อนหลังได้คลิกที่นี่
รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025
“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่
- Website : www.thaipbs.or.th/Verify
- Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
- IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
- TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
- LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify