EN

แชร์

Copied!

รู้ทัน ‘ล่า ล้วง ลึก’ 3 กลโกงมิจฉาชีพไซเบอร์ พร้อมวิธีป้องกันตัว

11 ก.ค. 6816:12 น.
รู้ทัน ‘ล่า ล้วง ลึก’ 3 กลโกงมิจฉาชีพไซเบอร์ พร้อมวิธีป้องกันตัว
ภัยจากมิจฉาชีพแทรกซึมเข้ามาอย่างแนบเนียน หลายคนอาจคิดว่า "เราระวังตัวดีแล้ว" แต่ความจริงคือเพียงคลิกเดียว หรือความไว้ใจเพียงนิดเดียว อาจทำให้คุณตกเป็นเหยื่อของ "กลโกงไซเบอร์" โดยไม่รู้ตัว

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.ก. (CIB) เผยว่า กลยุทธ์ของมิจฉาชีพในยุคนี้ซับซ้อนมากขึ้น และไม่ใช่แค่ “โทรมาหลอก” แบบเดิมอีกต่อไป พวกเขาใช้ทั้งเทคโนโลยี ความน่าเชื่อถือจากสื่อ และที่สำคัญที่สุดคือ การเล่นกับอารมณ์ของเหยื่อ

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.ก. (CIB)

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.ก. (CIB)

3 กลยุทธ์หลักของมิจฉาชีพ: “ล่า ล้วง ลึก”

ทั้งหมดนี้เรียกว่า 3 กลยุทธ์หลักของมิจฉาชีพ ได้แก่ ล่า ล้วง ลึก ที่ไม่เพียงแค่ดูดเงินในบัญชี แต่ยังทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อีกด้วย

1. ล่า – การออกล่าเหยื่อผ่านสื่อออนไลน์

ทุกคนคงเคยได้รับ SMS, โทรศัพท์ หรือพบโฆษณาในโซเชียลมีเดียในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นสนามของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ออกล่าเหยื่อผ่านสื่อออนไลน์ พวกเขาทำตัวเหมือนเป็นรูปแบบบริษัท และวางกับดักให้เราตกเป็นเหยื่อ แค่ 1 คลิกของเราอาจจะทำให้หมดตัวได้

“การสร้างสื่อออนไลน์ของเราง่ายยังไง คอลเซนเตอร์ก็สามารถสร้างได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นหากรู้จักใครผ่านทางออนไลน์ อย่าเพิ่งไปเชื่อว่าจะเป็นคนอย่างที่เห็นในออนไลน์” พ.ต.อ.เนติ กล่าว

รูปแบบการล่าที่พบบ่อย

การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มิจฉาชีพใช้วิธี SMS หรือโทรศัพท์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ, DSI หรือ ปปง. พร้อมใช้คำพูดข่มขู่ เพื่อให้เหยื่อตื่นตระหนกและหลงเชื่อ

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ทำแคมเปญ กองร้อยปอยเปต เพื่อเตือนประชาชนว่า หน่วยงานรัฐจะไม่ติดต่อผ่านโทรศัพท์หรือโซเชียล แต่จะส่งเอกสารทางการเท่านั้น หากพบรูปแบบที่แอบอ้างควรตั้งสติและตรวจสอบก่อนเสมอ

การใช้ชื่อคนดัง มิจฉาชีพยังดัดแปลงรูปแบบหลอกลวงออนไลน์อื่น เช่น อ้างชื่อบริษัทใหญ่, ดารา หรือผู้มีชื่อเสียงบนโซเชียล ที่มารีวิวอาหารเสริมที่ไม่มีเครื่องหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรืออ้างว่าหุ้นตกหนัก จึงต้องรีบชวนลงทุน พร้อมดึงเข้ากลุ่มแชตปิดที่เต็มไปด้วย “หน้าม้า” คอยคอมเมนต์สร้างความน่าเชื่อถือ

เมื่อเหยื่อเริ่มคล้อยตาม ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการ “ล้วง” และ “หลอกให้โอน” หรือมีการโทรและใช้การโทนเสียงผ่าน AI

2. ล้วง – การขโมยข้อมูลส่วนตัว

ล้วงคือการที่มิจฉาชีพล้วงข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การส่งลิงก์มาแจกรางวัล หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อเอาข้อมูลนั้นไปใช้ต่อ หรือการทำฟิชชิ่งผ่านอีเมลหรือเว็บไซต์ปลอม

SMS ดูดเงิน เมื่อเรากดลิงก์แล้วกรอกข้อมูล OTP หรือรหัสผ่าน มิจฉาชีพจะสามารถควบคุมเครื่องแล้วดูดเงินออกไปอย่างง่ายดาย

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เราเองเป็นคนเปิดเผยข้อมูลให้ล้วง โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่มักโพสต์ว่าเราเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน นั่นคือการเปิดข้อมูลให้มิจฉาชีพเข้าถึงได้ง่าย

3. ลึก – การเล่นกับอารมณ์

ลึกคือการที่มิจฉาชีพเล่นกับอารมณ์ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อข่มขู่ให้กลัว แล้วจะเร่งให้ทำตาม เช่น รีบโอนเงิน รีบส่งข้อมูล อีกอารมณ์หนึ่งที่เล่นคือ “ความโลภ” ที่อยากได้ผลตอบแทนโดยเร็ว

“คนไทยนิสัยอย่างหนึ่งคือมีเพื่อนหลายกลุ่ม พอได้ข้อความจากกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่เคยเห็น ก็รีบแชร์ก่อนเลย เพื่อจะได้เป็นคนแรกที่ส่งให้กลุ่มอื่น นั่นแหละครับ เท่ากับว่าเราเป็นเหยื่อโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะช่วยแชร์ข่าวปลอมออกไป นี่แหละคือเขาเล่นกับอารมณ์ของเรา” พ.ต.อ.เนติ กล่าว

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.ก. (CIB)

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.ก. (CIB)

ภูมิความรู้คือกุญแจสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็น “การล่า ล้วง ลึก” มันคือกับดักที่อยู่บนโลกออนไลน์ของแก๊งคอลเซนเตอร์ หากมีภูมิความรู้เรื่องมิจฉาชีพ และเข้าใจภัยไซเบอร์ รู้เท่าทันกลโกงออนไลน์และเทคนิคการหลอกลวงทางไซเบอร์ รวมถึงวิธีป้องกันมิจฉาชีพไซเบอร์ จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยจำกัดข่าวปลอมให้อยู่แค่ในวงเล็ก ๆ แต่หากไม่มีภูมิความรู้ ไม่รู้เท่าทันกลโกงและวิธีการหลอกลวง พอเจอข่าวใหม่ก็แชร์ออกไป เท่ากับว่าตกเป็นเหยื่อให้กับข่าวปลอมโดยไม่รู้ตัว

รับชมย้อนหลังได้คลิกที่นี่

รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025

“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่

  • Website : www.thaipbs.or.th/Verify
  • Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
  • IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
  • TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
  • LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify