EN

แชร์

Copied!

เจาะลึก Cross Check เครื่องมือสู้ข่าวลวงของนักข่าวมืออาชีพ

12 ก.ค. 6814:30 น.
เจาะลึก Cross Check เครื่องมือสู้ข่าวลวงของนักข่าวมืออาชีพ
ในยุคที่เราสามารถรับข่าวสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง และการกดแชร์ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ข่าวลวงจึงแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว คำถามสำคัญคือ “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่อ่านนั้นเป็นเรื่องจริง?”

คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS มีคำตอบผ่านแนวคิด “Cross Check” ที่ถือเป็นเกราะป้องกันสำคัญในการต่อสู้กับข่าวลวง ในงาน Thai PBS Verify Talk ภายใต้แนวคิด #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง และยังได้เปิดเผยเทคนิคและประสบการณ์จริงจากการทำข่าวเชิงสืบสวนอีกด้วย

คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS

คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS

Cross Check คืออะไร ?

Cross Check หรือการตรวจสอบข้อมูลซ้ำจากหลายแหล่ง ถือเป็นกระบวนการพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำข่าว โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลถูกเผยแพร่ได้ง่ายและรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดีย

“การ Cross Check คือการย้อนกลับไปที่ต้นทางของข้อมูล เพื่อดูว่าแหล่งที่มานั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงหรือมีการเจตนาแอบแฝงในการบิดเบือนข้อมูล” คุณคณิศกล่าว

เมื่อเราได้รับข้อมูลใด ๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่ดูน่าสงสัย สิ่งที่จำเป็นต้องทำไม่ใช่การรีบแชร์หรือเชื่อในทันที แต่ต้องตั้งคำถามว่า “ข้อมูลนี้มาจากใคร?” “มีแหล่งอ้างอิงหรือไม่?” “บุคคลหรือองค์กรที่เผยแพร่มีความน่าเชื่อถือเพียงใด?” หากพบว่าแหล่งข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่มีที่มาที่แน่นอน หรือมีแนวโน้มว่าจะสร้างความเข้าใจผิด สิ่งที่ควรทำคือย้อนกลับไปตรวจสอบต้นทางด้วยการ Cross Check อย่างละเอียด

กรณีศึกษา: เมื่อ Cross Check ไขความลับสีดำ

คุณคณิศเล่าถึงหนึ่งในความพยายามสร้างข้อมูลลวงที่ทีมข่าว The Exit เจอเมื่อได้รับพิกัดจากแหล่งข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าอาคารต่าง ๆ ในพื้นที่ปอยเปตมีการดำเนินกิจกรรมหลากหลาย เช่น คาสิโน พนันออนไลน์ และคอลเซนเตอร์

หลังจากนำเสนอข่าวออกไป ได้มีตัวแทนของหนึ่งในอาคารดังกล่าวติดต่อกลับมาทาง Inbox โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของบัญชี แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นบัญชีปลอม และกล่าวหา Thai PBS นำเสนอข้อมูลเท็จ และบิดเบือนข้อมูล โดยอ้างว่าอาคารนี้เป็นเพียงเกมออนไลน์เท่านั้น

ภาพแสดงพิกัดขบวนการคอลเซนเตอร์ปอยเปต

ภาพแสดงพิกัดขบวนการคอลเซนเตอร์ปอยเปต

ทีมข่าว The Exit จึงย้อนกลับไป Cross Check กับแหล่งข่าวในพื้นที่ปอยเปตเพิ่มเติม พบว่าอาคารดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่เกมออนไลน์อย่างที่อ้างไว้ แต่เป็นกลุ่มทุนจากไต้หวันที่ขยายกิจการมาจากมาเก๊า โดยบริเวณชั้นบนสุดทำเกมออนไลน์ตามที่กล่าวจริง ในขณะที่ส่วนชั้นอื่น ๆ กลับประกอบไปด้วยคอลเซนเตอร์และคาสิโน นี่ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นพลังของการ Cross Check ในการเปิดโปงข่าวลวง

คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS

คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS

Ghost Reporter และ Ghost Writer: แง่มุมใหม่ของข่าวปลอมที่ไม่ได้มาจาก AI

นอกจากเทคโนโลยี AI ที่สร้างข่าวปลอมแล้ว ยังมีปัญหา Ghost Reporter ที่เกิดขึ้นจากการสร้างตัวตนผู้สื่อข่าวปลอม เมื่อปี 2567 มีเหตุการณ์ที่เปิดเผยให้เห็นถึงปัญหานี้ เมื่อพบว่ามีผู้สื่อข่าวไปรายงานข่าวการเปิดตัวสินค้าของบริษัททุนแห่งหนึ่ง โดยมีการประสานงานกับบริษัทโฆษณาและประชาสัมพันธ์

ภาพตัวอย่าง Ghost Reporter

ภาพตัวอย่าง Ghost Reporter

หลังจากที่ข่าวเผยแพร่ออกไป ทีมงานได้มีการสืบสวนต่อเพื่อหาคำตอบว่า คนเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน และมีเจตนาอย่างไร ปรากฎว่ากลุ่มผู้สื่อข่าวเหล่านี้เป็นคนที่ถูกปลอมขึ้นมาในกระบวนการทำงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าในวงการข่าวไม่ใช่แค่เรื่อง AI หรือข่าวปลอมเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ Ghost Reporter อีกด้วย

อีกข่าวที่พบการปลอมเนื้อหาคือเรื่อง “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งเกิดขึ้นจาก Ghost Writer จะเห็นว่ามีข่าวบทความที่เกี่ยวข้องกับปลาหมอคางดำหลายบทความ เผยแพร่จากหลายสำนักข่าวด้วยกัน และมาจากผู้เขียนคนเดียวกัน อีกทั้งมีการนำเสนอในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อสนับสนุนกลุ่มทุนในการทำเรื่องปลาหมอคางดำ
ทางทีมงานได้มีการตรวจสอบพบว่า คนเขียนบทความเหล่านั้นไม่มีตัวตนจริง เป็นชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วปล่อยเนื้อหาข่าวสารผ่านสำนักข่าวต่าง ๆ เท่านั้น

คุณคณิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การต่อต้านระบบ AI หรือเรื่องหลอกลวงก็ตาม มันเกิดขึ้นจากคนไม่กี่คนที่พยายามจะแก้ไขปัญหา แต่ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และประสานความร่วมมือกัน ถึงจะประสบความสำเร็จ”

การทำความเข้าใจและนำหลัก Cross Check ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะช่วยให้เราเท่าทันข่าวลวง และเป็นผู้บริโภคข้อมูลที่ชาญฉลาดในยุคดิจิทัล

รับชมย้อนหลังได้คลิกที่นี่

รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025

“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่

  • Website : www.thaipbs.or.th/Verify
  • Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
  • IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
  • TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
  • LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify