แชร์

Copied!

ตรวจสอบแล้ว: ลงทะเบียนรถไฟฟ้า 20 บาท “กรมรางฯ – บีทีเอส” ยืนยัน ยังไม่เปิดลงทะเบียน!

4 พ.ค. 6812:00 น.
สังคมและสุขภาพ#ข่าวปลอม
ตรวจสอบแล้ว: ลงทะเบียนรถไฟฟ้า 20 บาท “กรมรางฯ – บีทีเอส” ยืนยัน ยังไม่เปิดลงทะเบียน!

ตรวจสอบกรณีบัญชี X แชร์ภาพลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ด้าน กรมรางฯ และ บีทีเอส ยืนยันโครงการอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่มีลงทะเบียนแต่อย่างใด

โพสต์บัญชี X อ้างต้องลงทะเบียนเก็บข้อมูลก่อนใช้โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ผ่านคิวอาร์โค้ด จากการตรวจสอบกระทรวงคมนาคม ระบุ โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาเพียงเท่านั้น ขณะที่ผู้บริหาร BTS ยืนยัน ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้ และต้องรอข้อมูลจากกรมรางฯ ก่อน

 

แหล่งที่มา : X

 

Thai pbs verify  ได้ทำการตรวจสอบพบบัญชี @karnnikro ของแพลตฟอร์ม X โพสต์ภาพลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลรถไฟฟ้า 20 บาท เฉพาะปีแรก พบผู้เข้าชมโพสต์ดังกล่าวกว่า 2 ล้านครั้ง มีผู้แสดงความคิดเห็น 149 ข้อความ รีโพสต์ 20,000 ครั้ง และมีผู้ชื่นชอบ 77,000 ครั้ง 

นอกจากนี้จากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพด้วย Google Lens เรายังพบภาพเดียวกัน ถูกแชร์ในบัญชี X อื่น ๆ อีกด้วย (ลิงก์บันทึกที่นี่)

กระทรวงคมนาคมยืนยังไม่มีกระบวนการลงทะเบียน

 จากการติดต่อสอบถามไปยัง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท อยู่ระหว่างขั้นตอนการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนรายละเอียดของนโยบายก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพียงเท่านั้น ยังไม่มีกระบวนการลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลแต่อย่างใด

ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า รายละเอียดนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ทางหน่วนงานยังไม่ได้ดำเนินการอะไรทั้งสิ้น ต้องถามรายละเอียดจากฝั่งกรมรางฯ เพียงเท่านั้น

กระบวนการตรวจสอบ

  1. การสัมภาษณ์หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
    - การยืนยันจาก กระทรวงคมนาคม ซึ่งยืนยันข้อมูลว่า ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ยังคงอยู่ในขั้นตอนหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังไม่มีการเปิดให้ลงทะเบียนแต่อย่างใด
  2. การตรวจสอบกับภาคเอกชน (บีทีเอส)
    - การยืนยันจาก บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยืนยันว่า “รายละเอียดของนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้”

ผลกระทบจากการได้รับข้อมูลเท็จ:

  1. เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงข้อมูลส่วนตัว
    - หากประชาชนหลงเชื่อและกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ อาจทำให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในการแอบอ้างหรือก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ได้
  2. สร้างความเข้าใจผิดในนโยบายรัฐ
    - ข้อมูลเท็จอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่านโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เริ่มใช้งานแล้ว ทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ส่งผลให้เกิดความสับสนและลดความเชื่อมั่นต่อการสื่อสารของภาครัฐ
  3. เกิดการแชร์ต่ออย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ตรวจสอบ
    - เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพ การแชร์ต่อโดยไม่ตรวจสอบอาจทำให้ข้อมูลปลอมกระจายวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของประชาชนในวงกว้าง
  4. เบี่ยงเบนความสนใจจากข้อเท็จจริงของนโยบาย
    - ทำให้ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจริงในอนาคตอาจพลาดโอกาสจากความลังเลหรือความไม่แน่ใจในความน่าเชื่อถือของข้อมูล

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

  1. อย่าหลงเชื่อทันที
    - หากเห็นภาพหรือข้อความที่ต้องสงสัย โดยไม่มีที่มาชัดเจน หรือมาจากแหล่งที่ไม่เป็นทางการ ควรหยุดคิดและตรวจสอบก่อนแชร์
  2. ตรวจสอบแหล่งที่มา
    - ดูว่าข้อมูลมาจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม หรือเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลหรือไม่ หากไม่แน่ใจ สามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ
  3. ระวังการให้ข้อมูลส่วนตัว
    - อย่ากรอกข้อมูลบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือรายละเอียดส่วนตัวในเว็บไซต์หรือแอปฯ ที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจเป็นการหลอกลวงเพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
  4. รายงานโพสต์เท็จ
    - หากพบว่าเป็นข้อมูลปลอม ควรรายงานไปยังแพลตฟอร์มนั้น ๆ (เช่น Facebook, X) เพื่อให้ลบข้อมูลและป้องกันการแพร่กระจาย

สำหรับโครงการ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เริ่มได้รับความสนใจตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2566 เมื่อพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาท ตลอดสาย ในเวที “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพ” และย้ำอีกครั้งในช่วงการเลือกตั้งปี 2566 เพื่อช่วยลดภาระค่าเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ

ต่อมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอนโยบายนี้ต่อที่ประชุมสภา โดยระบุว่าจะเริ่มนำร่องกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงภายใน 3 เดือน และขยายไปยังทุกเส้นทางภายใน 2 ปี ขณะที่บีทีเอสเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินอุดหนุน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมสนับสนุน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม แสดงความพร้อมเริ่มนโยบายกับสายสีแดงและสีม่วง ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งสองสายเป็น 20 บาทตลอดสาย มีผลทันทีถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567

ขณะเดียวกัน ครม. ยังได้อนุมัติให้ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยกำหนดราคาเริ่มต้นที่ 17 บาท และไม่เกิน 45 บาท ด้านนายสุริยะฯ ได้สั่งเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ให้มีผลภายในปี 2568 และผลักดันค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมทุกเส้นทางภายในมีนาคม 2569

ในงาน “Vision For Thailand” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านโยบายนี้ยังเดินหน้า แต่ต้องพิจารณาการเวนคืนระบบรถไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ นายสุริยะฯ ยังเผยว่าจะเสนอการต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายสำหรับสายสีม่วงและสีแดงออกไปอีก 1 ปี

ขณะเดียวกัน ครม. ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 226 ต่อ 142 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

นายสุริยะฯ ยืนยันว่า ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางจะเริ่มใช้จริงภายในเดือนกันยายน 2568 และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะเข้าร่วมโครงการในช่วงเวลาเดียวกัน โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนรับสิทธิผ่านแอป “ทางรัฐ” ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2568 เป็นต้นไป  (ลิงก์บันทึก)