Thai PBS Verify พบแหล่งที่มาจาก : Facebook
Thai PBS Verify พบโพสต์จาก กลุ่มสาธารณะ Facebook ระบุว่า วันที่ 23-27 พฤษภาคม 2568 นี้ ฝนจะถล่มแบบรุนแรงภาคเหนือ ในระยะเวลา 4 วัน ปริมาณฝนสะสมทะลุถึง 500 มิลลิเมตร โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า หนักแล้ว!!! เกิดอะไรขึ้น แบบจำลอง ECMWF อัปเดทล่าสุด วิเคราะห์ลักษณะอากาศที่ไทยตอนบน แบบสุดโต่งมาก!!! โดยเฉพาะช่วงวันที่ 23-27 พฤษภาคม นี้ (โดยใกล้เคียงกับ GFS มาก)
มีแนวลมพัดสอบระดับบรรยากาศชั้นกลางรุนแรง บริเวณประเทศไทยตอนบน จะทำให้เกิดกระแสอากาศยกตัวรุนแรงสุดขั้ว ฝนถล่มหนักมากภาคเหนือทุกลุ่มน้ำ แต่เน้นลุ่มน้ำปิง น้ำน่าน เพราะใกล้แนวกระแสลมที่แรงมาก และแนวลมยกตัวขึ้น (มีลุ้นทะลุ 500มิลลิเมตร) (ในช่วงดังกล่าวนี้เลย โดยระยะเวลา แค่ 4 วัน)
………………เตรียมเรือ กันได้เลยสำหรับภาคเหนือ แบบจำลอง 2 แบบที่ต่างทวีปกัน วิเคราะห์ใกล้เคียงกันมาก (เมื่อวานผมได้วิเคราะห์ของ GFS ก็สุดโต่งมาก)
ส่วนพม่า จะเกิดน้ำท่วมใหญ่มาก มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงหมุนในพื้นที่แบบแช่
ย้ำว่าอันนี้คือแบบจำลอง ECMWF ที่กรมอุตุฯ ไทย ก็ใช้
ฝนตกหนักจริงจากร่องมรสุม
Thai PBS Verify ได้สอบถามไปยัง สมควร ต้นจาน รองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา และผู้อำนวยกองพยากรณ์อากาศ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะเกิดฝนใน ช่วงวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2568 เป็นอิทธิพลของมรสุมที่พัดผ่านทะเลอันดามัน โดยมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเสริมเป็นระยะ แม้ฝนอาจยังไม่รุนแรง แต่จะเริ่มสะสมในบางพื้นที่ (ลิงก์บันทึก)
จากนั้นในช่วงวันที่ 23–27 พฤษภาคม 2568 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้นอย่างชัดเจน โดยพัดจากทะเลอันดามันเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบกับการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลอันดามันและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้เกิดร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันตก เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี รวมถึงภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง
พื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากหลายพื้นที่มีสภาพดินที่อุ้มน้ำเต็มแล้ว โดยเฉพาะในภาคเหนืออย่างลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่สอด หากมีฝนตกซ้ำจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภัยพิบัติ
ขณะที่ในช่วงวันที่ 28–31 พฤษภาคม แม้ฝนจะยังคงตกต่อเนื่อง แต่ความรุนแรงจะลดลง อย่างไรก็ตาม ฝนที่สะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ที่มีระบบระบายน้ำไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องระวังคลื่นลมแรงในทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อกิจกรรมทางทะเล ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือนถึงต้นเดือนมิถุนายน ฝนจะเริ่มลดลงเข้าสู่สภาพฝนตามฤดูกาล แต่ประชาชนควรเฝ้าระวังและติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยตามภูเขาและใกล้ทางน้ำไหล
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณฝนสะสม 500 มิลลิเมตรใน 4 วันในภาคเหนือ
จากกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า ภาคเหนือของประเทศไทย จะมีปริมาณฝนสะสมถึง 500 มิลลิเมตร ในระยะเวลา 4 วัน ช่วงวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2568 นี้ ทางรองโฆษกฯ ได้ชี้แจงว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นปริมาณฝนที่สูงมาก และเกิดขึ้นได้ยากมากในบริเวณภาคเหนือในช่วงเวลาดังกล่าว หากเกิดขึ้นก็อาจจะมีฝนตกสะสมเฉลี่ยวันละร้อยกว่ามิลลิเมตร
“โดยทั่วไป ปริมาณฝนในระดับ 500 มิลลิเมตรภายในไม่กี่วันมักจะพบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนหรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งอันดามัน เช่น ระนอง พังงา และภูเก็ต หากปริมาณฝนสะสม 500 มิลลิเมตรภายใน 4 วัน หมายความว่าต้องตกเฉลี่ย วันละ 100 กว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้น ต้องเป็นระดับพายุ เช่น กรณีที่ภาคเหนือรับอิทธิพลจากพายุยางิ” สมควร ต้นจาน รองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยาและผู้อำนวยกองพยากรณ์อากาศ
สรุปสถานการณ์ฝนในภาคเหนือ (แม่ฮ่องสอน ตาก ฯลฯ)
- ช่วงวันที่ 23–27 พฤษภาคม จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเข้ามาปกคลุม ทำให้มีฝนตกหนักสลับเบา บางวันมีปริมาณฝนสะสมหลักสิบสลับหลักร้อยมิลลิเมตร
- หากหย่อมความกดอากาศต่ำพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชันหรือไซโคลน อาจดึงความชื้นเข้ามา ทำให้เกิดฝนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ แต่ฝนที่ตกจริงอาจไม่ถึง 400–500 มิลลิเมตร ตามที่มีการกล่าวอ้าง
- กรณีที่รุนแรงที่สุด ปริมาณฝนสะสมในพื้นที่ภาคเหนือช่วง 4 วันอาจอยู่ที่ประมาณ 200–300 มิลลิเมตร ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างสูงแล้ว
ตัวอย่างปริมาณฝนสะสมสูงจากเหตุการณ์ในอดีต
- พายุโซนร้อน “ปลาบึก” เคยทำให้เกิดฝนตกสะสม มากกว่า 600 มิลลิเมตรภายใน 24 ชั่วโมง ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
- กรณีพายุ “ยางิ” เคลื่อนตัวเข้ามาและแช่ตัวอยู่พื้นที่ 2–3 วัน สร้างฝนสะสมสูงในภาคเหนือ
อย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคเหนือนั้น จากคำกล่าวอ้างที่ว่าฝนจะตกสะสมถึง 400–500 มิลลิเมตร ใน 4 วัน ถือเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เว้นแต่จะได้รับอิทธิพลโดยตรง จากพายุเขตร้อนที่เคลื่อนตัวเข้ามา และปกคลุมพื้นที่เป็นเวลานาน ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องทั้งวันในบริเวณกว้าง ซึ่งในลักษณะนี้จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในระดับ 100–200 มิลลิเมตรต่อวันติดต่อกัน 3–4 วัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณว่าพายุรุนแรงจะเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่โดยตรง แต่ประชาชนควรติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพอากาศยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
เกณฑ์ปริมาณฝนที่ควรรู้
- ฝนเล็กน้อย (Light Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 0.1 มิลลิเมตร ถึง 10.0 มิลลิเมตร
- ฝนปานกลาง (Moderate Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 10.1 มิลลิเมตร ถึง 35.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนัก (Heavy Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 35.1 มิลลิเมตร ถึง 90.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนักมาก (Very Heavy Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตร ขึ้นไป
แบบจำลองพยากรณ์อากาศ
สำหรับคำกล่าวอ้างที่ว่าใช้แบบจำลองพยากรณ์จากศูนย์ ECMWF หรือ ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (European Centre for Medium-Range Weather Forecasts – ECMWF) ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบจำลองที่มีความน่าเชื่อถือสูงที่สุดในระดับโลก
ทางโฆษกฯ ขอย้ำว่า การพยากรณ์อากาศจำเป็นต้องติดตามการอัปเดตข้อมูลเป็นระยะ เนื่องจากสภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้แบบจำลองจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็ไม่สามารถฟันธงล่วงหน้าได้ 100% ทั้งนี้ ประชาชนควร ติดตามข้อมูลจากแหล่งทางการ เช่น เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือ Facebook กรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสถานการณ์ และมีการวิเคราะห์จากนักอุตุนิยมวิทยาโดยตรง
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2568) ฉบับที่ 3 (123/2568) ดังนี้
ในช่วงวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2568 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบน จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม