EN

แชร์

Copied!

ตรวจสอบแล้ว : คลิปผู้ประกาศ Thai PBS รายงานข่าว “แอน จักรพงษ์” ชวนลงทุนได้ผลตอบแทน 5 แสนบาท ใน 1 เดือน แท้จริงสร้างจาก Deepfake

22 ก.ค. 6814:32 น.
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี#ข่าวปลอม
ตรวจสอบแล้ว : คลิปผู้ประกาศ Thai PBS รายงานข่าว “แอน จักรพงษ์” ชวนลงทุนได้ผลตอบแทน 5 แสนบาท ใน 1 เดือน แท้จริงสร้างจาก Deepfake

คลิปปลอม AI Deepfake แอบอ้างผู้ประกาศข่าว Thai PBS World รายงานข่าวสัมภาษณ์ "แอน จักรพงษ์" ชักชวนลงทุนออนไลน์ อ้างเริ่มต้น 8,000 บาท ได้คืนหลักแสนบาท

จากการตรวจสอบเรื่องนี้ Thai PBS Verify พบว่าเป็นข่าวปลอม โดยใช้เทคโนโลยี AI Deepfake แอบอ้างภาพและเสียงบุคคลมีชื่อเสียง “แอน จักรพงษ์” CEO เวทีประกวดนางงาม Miss Universe และผู้ประกาศข่าว Thai PBS World เนื้อหาในคลิปอ้างชักชวนเยาวชนไทยลงทุนในแพลตฟอร์มที่ถูกรับรองโดยรัฐบาล และได้รับผลตอบแทนหลักแสนบาท

Thai PBS Verify พบแหล่งที่มาข่าวปลอมจาก : Facebook

Thai PBS Verify ตรวจสอบพบเพจปลอมแอบอ้างใช้โลโก้สำนักข่าวชื่อดัง เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 2 นาที ปรากฏภาพ คุณ ดลยณา บุนนาค ผู้ประกาศข่าว Thai PBS World สัมภาษณ์ คุณ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กรมิสยูนิเวิร์ส เนื้อหาชักชวนลงทุนออนไลน์ เป็นภาษาอังกฤษ โดยเผยแพร่ในลักษณะการยิงโฆษณาผ่านแพลตฟอร์ม Facebook มียอดผู้เข้าชม 12,000 ครั้ง  (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)   

รายละเอียดเนื้อหาในคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นภาพของผู้ประกาศ Thai PBS World รายงานข่าว แอน จักรพงษ์ โดยมีเนื้อหาเชิญชวนให้ประชาชนรวมถึงนักศึกษาจบใหม่ เข้าร่วมลงทุนในแพลตฟอร์มการเงินอัตโนมัติ ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย

ภาพบันทึกหน้าจอจากคลิปที่ใช้ AI-deepfake นำวิดีโอและเสียง แอน จักรพงษ์ มาดัดแปลง

คลิปดังกล่าวมีการระบุว่า ผู้ลงทุนสามารถเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 8,000 บาท และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงถึง 800,000 บาท ทั้งยังอ้างว่าได้มีการทดลองระบบดังกล่าวกับกลุ่มคนจำนวนน้อย และพบว่าผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ยืนยันว่าผู้ลงทุนทุกรายได้รับผลกำไร 100% หากไม่มีกำไรจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวอ้างเพิ่มเติมว่า หากเปิดให้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในวงกว้าง จะสามารถทำให้คนไทยกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านทั้งประเทศได้ จึงมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ผู้ที่ติดต่อหรือลงทะเบียนก่อนจะได้รับสิทธิก่อน จะมีโอกาสร่ำรวยก่อน พร้อมทั้งมีการเตือนว่า หากชมวิดีโอจบ ลิงก์สำหรับเข้าร่วมหรือสมัครลงทุนจะหายไปทันที หากผู้ชมไม่รีบตัดสินใจดำเนินการ

คลิปต้นฉบับ

จากการตรวจสอบเราพบ คลิปต้นฉบับถูกนำมาจากรายงานข่าวรายการ Thai PBS World Tonight ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2025 (ลิงก์บันทึก)

ซ้าย คือภาพที่ถูกสร้างจาก AI-deepfake ขวา คือภาพบันทึกจากคลิปต้นฉบับ

ขณะที่ คลิปต้นฉบับของคุณแอน จักรพงษ์ พบว่ามีการนำมาจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศแห่งหนึ่ง โดยเป็นคลิปที่ถูกเผยแพร่เมื่อ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2023 (ลิงก์บันทึก)

ซ้าย คือภาพที่ถูกสร้างจาก AI-deepfake ขวา คือภาพบันทึกจากคลิปต้นฉบับ

ขณะเดียวกันเราสอบถามไปยังคุณสถาพน พัฒนะคูหา ประธานบริษัท Guardian AI ยืนยันว่าคลิปดังกล่าวสร้างจาก AI-deepfake โดยให้ข้อสังเกตการขยับรูปปากของบุคคลในคลิปที่ไม่ตรงกับเสียง และลักษณะคุณภาพของภาพในคลิปวิดีโอ กล้ามเนื้อใบหน้า รูปปาก มีลักษณะเบลอ ยืนยันว่าเป็นคลิปที่สร้างจาก AI-deepfake (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า หน้าเพจดังกล่าวประกอบไปด้วย ลิงก์เว็บไซต์ เบอร์ติดต่อที่ไม่สามารถติดต่อได้ และที่อยู่เท็จ

ขณะที่ภาพโปรไฟล์ของบัญชีดังกล่าว พบการนำภาพของสำนักข่าวไทยรัฐทีวี มาใช้อีกด้วย

ภาพบันทึกหน้าจอเพจปลอมแอบอ้างโลโก สำนักข่าวไทยรัฐทีวี (ลิงก์บันทึก)

ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง คุณดลยณา บุนนาค ผู้ประกาศข่าว Thai PBS World เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกนำคลิปวิดีโอไปสร้าง Deepfake เพื่อรายงานข่าวเท็จ จากกรณี ตรวจสอบพบ : คลิป AI อ้างหมอชื่อดังถูกจับ เหตุเผยสูตรยาความดันสูงกินแล้วหายใน 3 วัน รวมถึงกรณีถูกแอบอ้าง สัมภาษณ์ ปัญญา นิรันดร์กุล 

Thai PBS Verify สัมภาษณ์ทาง คุณดลยณา ได้กล่าวว่า เพียงปีเดียว มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 3–4 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถือว่าแนบเนียนและสมจริงมากที่สุด เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ก่อนหน้า

สำหรับกรณีล่าสุด คุณดลยณา เปิดเผยว่า คลิปที่ถูกปลอมแปลงด้วย AI ครั้งนี้มีความสมจริงสูง ทั้งน้ำเสียง จังหวะการพูด และลักษณะการรายงานที่เลียนแบบได้อย่างแนบเนียน แม้ว่าสำเนียงจะยังมีความแตกต่างเล็กน้อย แต่ผู้ชมทั่วไปที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง อาจเข้าใจผิดได้ว่าเป็นคลิปข่าวจริง โดยเฉพาะคลิปล่าสุดที่มีการทำเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ทำให้มีความเนียนมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ยืนยันว่า Thai PBS ไม่มีนโยบายรายงานข่าวหรือโฆษณาใด ๆ ที่มีลักษณะชักชวนให้ประชาชนร่วมลงทุน 

“มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะตอนนี้ใคร ๆ ก็สามารถตกเป็นเหยื่อ AI-Deepfake และในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงก็กังวลเรื่องนำไปในแง่ลักษณะอนาจาร”

เบื้องต้นหลังจากตกเป็นผู้เสียหายในครั้งแรก ทางผู้ประกาศข่าว ได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในทางคดี พร้อมกล่าวว่ากรณีนี้ไม่ใช่เพียงความเสียหายส่วนตัวของผู้ประกาศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร Thai PBS ด้วย เนื่องจากผู้ประกาศถือเป็นตัวแทนของสถานีอย่างเป็นทางการ การถูกนำภาพและเสียงไปปลอมแปลงเพื่อนำเสนอเนื้อหาหลอกลวง จึงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อสาธารณะอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยการทำ Deepfake ผิดกฎหมายในไทย มีดังนี้

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560  มาตรา 16 ว่าด้วย “ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไป อาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อเติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตราเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท การดูหมิ่น การเผยแพร่สื่ออนาจาร
  • พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) หากนำข้อมูลส่วนบุคคล (ใบหน้า ชื่อและเสียง) ไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม
  • หากเหยื่อเป็น ผู้เยาว์ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายคุ้มครองเด็ก

กระบวนการตรวจสอบ

  • ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก วันที่สร้างเพจ ข้อมูลหน้าเพจที่พบความผิดปกติ ได้แก่ การนำโลโกของสำนักข่าวไทยรัฐมาใช้ การแนบลิงก์เว็บไซต์ปลอม ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ไม่น่าเชื่อถือ
  • สอบถามผู้เชียวชาญด้านเทคโนโลยีภาพ AI ยืนยันว่าคลิปดังกล่าวสร้างจาก AI Deepfake
  • ยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องในคลิป ยืนยันจากบุคคลผู้เสียหายที่ถูกแอบอ้างนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ จากเทคโนโลยี AI-Deepfake

ผลกระทบจากการรับข้อมูลลักษณะนี้

  1. ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อและผู้ประกาศข่าว
    หากมีกลุ่มคนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิด อาจส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของสถานีข่าวหรือสื่อโดยรวมลดลง
  2. ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
    การนำใบหน้าหรือเสียงของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งผิดกฎหมาย
  3. เปิดช่องทางให้มิจฉาชีพนำไปใช้ต่อ
    คลิปปลอมสามารถนำไปใช้สร้าง สามารถนำไปใช้ต่อในวงกว้างได้ เช่น การหลอกลวง การหลอกขายสินค้า

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

1. รวบรวมหลักฐานทันที แจ้งบุคคลที่ถูกแอบอ้างนำภาพส่วนตัวมาใช้โดยมิจฉาชีพ

  • เก็บภาพ วิดีโอที่ถูกตัดต่อ หรือข้อความที่เกี่ยวข้อง เวลาที่ถูกเผยแพร่ หากถูกเผยแพร่ในกลุ่มแชตหรือโซเชียล ให้เก็บประวัติการสนทนาและ URL ของโพสต์ไว้

2. กดรายงานในแพลตฟอร์ม (Facebook, YouTube, TikTok)

  • กดรายงานเนื้อหาต่อแพลตฟอร์มที่มีการเผยแพร่ Facebook, X หรือ TikTok เพื่อให้ลบเนื้อหาออก

3. หากคุณเป็นผู้เสียหายที่ถูกนำภาพหรือเสียงไปใช้ ให้แจ้งความหรือปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • แจ้งความที่สถานีตำรวจหรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และหน่วยงานเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อขอให้ช่วยประสานงานลบข้อมูล หรือสายด่วนศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภัยคุกคามทางไซเบอร์ 1212

4.สังเกตวิดีโอที่สร้างจาก AI-Deepfake ดังนี้

  • สังเกตการขยับริมฝีปาก ไม่ sync กับคำพูด
  • สังเกตการเคลื่อนไหวจะไม่ smooth เพราะมีการตัดต่อวิดีโอ
  • สังเกตท่าทางเคลื่อนไหวจะซ้ำ ๆ เหมือนวนลูป
  • สังเกตการใช้สำเนียงของเสียงบรรยายในคลิป