ตรวจสอบบ้านพักตุลาการเชียงใหม่

ภูมิภาค
28 ก.พ. 61
19:41
57,145
Logo Thai PBS
ตรวจสอบบ้านพักตุลาการเชียงใหม่
มีคำชี้แจงแล้วว่า โครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการ จ.เชียงใหม่ เชิงดอยสุเทพ ถูกต้องตามกฎหมาย พื้นที่นั้นเป็นที่ราชพัสดุไม่ใช่พื้นที่ป่า แม้จะไม่ผิดและพยายามออกแบบให้ต้องตัดไม้น้อยที่สุด แต่อาจต้องอธิบายด้วยว่า เหมาะสมแล้วหรือไม่

กรณีการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการ ตุลาการ จ.เชียงใหม่ กลับมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังผู้ใช้สื่อออนไลน์ ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่สีเขียวซึ่งเชื่อมต่อกับผืนป่าดอยสุเทพ

ล่าสุด นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ข้อมูลกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่าดินที่แปลงนี้ ได้รับอนุญาตให้ใช้จากกระทรวงการคลัง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ ปี 2549 ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี 2518

 

 

ขณะที่ การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป โดยคนงานของบริษัทผู้รับเหมาเอกชน ยังคงเร่งทำงานเพื่อให้การก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ จ.เชียงใหม่ บริเวณเชิงเขาดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม ให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังล่าช้าตามกำหนด เนื่องจากช่วงแรกพบอุปสรรคในการปรับพื้นที่

 

 

สภาพพื้นที่ที่ผ่านมา แม้จะเป็นป่าแต่ก็เป็นที่ราชพัสดุในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบก ก่อนจะมีประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 ซึ่งก็ไม่ได้กระทบสิทธิของหน่วยทหารแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน การวางแบบแปลนก็มีแนวทางย้ำให้ผู้รับเหมาเลือกตัดต้นไม้เท่าที่จำเป็น พร้อมกับเว้นพื้นที่ราว 58 ไร่ ที่ลึกเข้าไปให้คงสภาพพื้นที่ที่มีต้นไม้อยู่เดิมพร้อมกับย้ำว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะปรับภูมิทัศน์เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไป

 

 

ขณะที่ นายทรงกรด ลี้ภากรณ์ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ถามว่าตอนนี้ทำอะไรกับเขาได้หรือไม่ ซึ่งทำอะไรไม่ได้เลยและเขาก็ไม่ได้ผิด ซึ่งก็อยากให้เขาอยู่โดยที่ไม่สร้างความเสียหายหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับธรรมชาติตรงนั้น

สอดคล้องกับ น.ส.สุดารัตน์ บัวถา ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า เขาเป็นผู้ถือกฎหมายอย่างน้อยก็ควรจะรับฟังเสียงจากประชาชนว่าควรจะทำรึเปล่า ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสิทธิที่จะสามารถทำได้ แต่การเป็นคนภายนอกที่มองเข้าไปก็รู้สึกขัดๆ เหมือนกัน

 

ด้านแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "รักษ์แม่ปิง" ซึ่งเป็นผู้เปิดพื้นที่รับฟังและสะท้อนความคิดเห็นถึงความไม่เหมาะสม ตั้งแต่ก่อนมีการเริ่มโครงการ ให้ความเห็นว่า เมื่อกระบวนการทุกอย่างชอบด้วยกฏหมายและเลยจุดที่จะเรียกร้องให้รื้อถอน ทางออกเดียว ณ เวลานี้ ต้องปรับปรุงสภาพนิเวศที่มีอยู่ให้ดีขึ้นด้วย

"อาคารหลายแห่งยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา บางครั้งก็ไปสร้างในป่าหรือกระทั่งในป่าสงวนด้วยซ้ำแต่ด้วยการอนุญาตของรัฐ แต่ว่าเขาได้รับ Label Green Building ชนิดที่ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสภาพนิเวศที่มีอยู่ดีกว่าเดิมอีก อะไรทำนองนี้ คือมันต้องมีการชดเชย ไม่ใช่ว่าจะไปปักหลักแล้วไม่ทำอะไร คิดว่าควรแสดงความเป็นสุภาพบุรุษมากกว่านี้ " แอดมินเพจเฟซบุ๊กรักษ์แม่ปิง กล่าว

 

สำหรับกรณีบ้านพักและอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการ ตุลาการ จ.เชียงใหม่ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วก่อนหน้านี้ โดยนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้แถลงชี้แจงความโปร่งใสในการก่อสร้างไปแล้ว เมื่อ วันที่ 9 มิ.ย.2559 แต่ก็ยังคง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง

หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะเป็นที่พักของข้าราชการ กว่า 200 คน จาก 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ,สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ,ศาลแรงงานภาค 5 ,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5, ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ,ศาลแขวงเชียงใหม่ และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง