เอกชนไทยขายไฟฟ้าให้เวียดนาม

เศรษฐกิจ
8 ก.ย. 62
15:14
21,281
Logo Thai PBS
เอกชนไทยขายไฟฟ้าให้เวียดนาม
เอกชนไทยเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่สุดในอาเซียน เริ่มขายไฟให้รัฐบาลเวียดนามแล้ว ขณะที่กระทรวงพลังงานหนุนความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาค

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไทยที่ได้รับสัมปทานขายไฟ 20 ปี ให้รัฐบาลเวียดนาม เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินโครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 (DT1& DT2) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ อย่างเป็นทางการ ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

 

 

โดยมี นาย หว๋อ วัน เทื่อง Head of Propaganda and Training Commission, Member of Politburo นายเหงียน วัน บิง Head of Economic Commission, Member of Politburo และ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา, อดีต รมว.พลังงานและอดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน

 

 

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กล่าวว่า เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนสูง ด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ จีดีพีขยายตัวกว่า 6-7% ต่อปี และมีการสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง สำหรับการเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 ที่เวียดนามซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินโครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ Electricity of Vietnam (EVN) ด้วยสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 9.35 เซ็นดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนเพิ่มเป็นร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 8 และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนธ.ค. 2562 โดยจะส่งผลให้ ณ สิ้นปีนี้จะมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 46 โครงการมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,896 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าในอีกหลายประเทศทั้งใน เวียดนาม เกาหลีใต้ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาว รวมถึงระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565

 

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ จะเสนอหลักการส่งเสริมพลังงานชุมชน หรือ โรงไฟฟ้าชุมชน โดยเฉพาะใช้วัตถุดิบทางการเกษตร มาเป็นพลังงานทางเลือก และการส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟทอป เป็นรูปแบบการลงทุนร่วมกับเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่กระทรวงพลังงานต้องการให้เอกชนเข้ามามีส่วนสนับสนุนผลิตไฟฟ้าร่วมกับชุมชน เช่น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

ส่วนกรณีที่มีเอกชนที่หันลงทุนในด้านพลังงานทดแทนในต่างประเทศมากขึ้น ยอมรับว่า เป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาล เพื่อจะให้เอกชนนำศักยภาพที่มี กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านพลังงานภายในประเทศด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง