วันนี้ (27 พ.ค.2568) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยมีนายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุม ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
ก่อนจะลงพื้นที่ติดตามแผนการเตรียมขุดลอกแม่น้ำปิงในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ และ มาตรการรับมือน้ำท่วมจากฝนตกหนักในเขตเมืองเชียงใหม่ โดย ปภ.ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อคลี่คลายน้ำท่วมขังรอการระบาย

ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
อธิบดีกรม ปภ.ระบุว่า การรับมือสถานการณ์น้ำของ จ.เชียงใหม่ โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ในการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกแม่น้ำปิงโดยหน่วยทหารพัฒนา หรือ การกำจัดเศษวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ

ส่วนภาพรวมทั้งประเทศพบว่า ทุกพื้นที่ยังมีฝนกระจาย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 27 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ตอนบน อาจจะมีฝนตกชุก ตกหนักบางพื้นที่ จึงขอให้ผู้ว่าราชการ และนายอำเภอ แจ้งเตือนประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะในลุ่มน้ำต่างๆ ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง และ ให้แต่ละจังหวัดนำแผนเผชิญเหตุที่เตรียมไว้มาใช้ โดยเจ้าหน้าที่บุคลากรต่างๆ ต้องตื่นตัวตลอด 24 ชั่วโมง
ประเมินว่า ฝนน่าจะอยู่ถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย. จากนั้นฝนจะเริ่มเบาลง และทิ้งช่วงตามลำดับ ในระยะนี้ประมาณ 10 กว่าวัน แต่ละจังหวัดจึงต้องตื่นตัว และเปิดวอร์มติดตามสถานการณ์พื้นที่อย่างใกล้ชิด

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย
นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย ระบุว่า ในช่วง 2-3 วันนี้ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนในเขต จ.เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน จะยังมีฝนตกหนัก และพื้นที่ อ.สันป่าตอง และ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมรอบสองได้ ซึ่ง ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะมีการประสานกับทางท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ และ สอบถามว่าในพื้นที่ต้องการใช้การแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast หรือไม่

การแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ถือเป็นการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินในระดับที่มีความเสี่ยงสูงมาก และ ได้รับการร้องขอรวมทั้งมีการยืนยันจากท้องถิ่นว่าเหตุเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะเป็นทำงานทั้งในแบบ Top Down และ Bottom up
สำหรับแผนการขุดลอกแม่น้ำปิง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณน้ำลดความเสี่ยงน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ไม่ให้ซ้ำรอยปีที่ผ่านมา นายเสรีระบุว่า ในอนาคต จ.เชียงใหม่ จะเผชิญฝนตกหนักมากขึ้น จากเหตุการณ์น้ำท่วมปีก่อน ปริมาณฝนอยู่ที่ 150 มิลลิเมตรต่อวัน อนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 250 มิลลิเมตรต่อวัน
ลำพังการขุดลอกแม่น้ำปิงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์แน่นอน การขุดลอกแม่น้ำ จึงเป็นเพียงมาตรการเร่งด่วน แต่ใน 3-5 ปีข้างหน้า จำเป็นที่ต้องมีมาตรการถาวรที่ต้องใช้เวลา และงบประมาณสูง ซึ่งต้องมาดูว่าจะสามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางได้ไหม จะสามารถสร้างคลองผันน้ำ ได้หรือไม่ ซึ่งต้องมีองค์ประกอบหลายๆอย่างตามมา
วันนี้พรุ่งนี้ ฝนตกหนักมากที่แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ การขุดลอกต่างๆ อาจไม่ทันในช่วงนี้แน่นอน แต่อย่าลืมว่าฝนหนักจะมาเดือนสิงหาคม เราจึงคาดหวังว่าการขุดลอกแม่น้ำปิงจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย ยังให้ความเห็นว่าในการรับมือภัยพิบัติ ท้องถิ่นที่อยู่หน้างาน ถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญที่สุด เมื่อได้รับคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานส่วนกลางล่วงหน้า 2-3 วัน แต่ละท้องถิ่นต้องตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้า และเร่งเตรียมความพร้อม เพราะปัญหาที่พบ คือ ท้องถิ่นไม่จัดตั้งงบประมาณไว้ เพราะการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุมีความสำคัญมาก ถุงทราย คันดิน ถุงบิ๊กแบ็ค ต้องมีการเตรียมไว้ก่อน หากน้ำมาถึงแล้ว แต่ไม่เตรียมรับมือ มันยากมากที่จะป้องกันได้สำเร็จ
รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ