วันที่ 3 ก.ค.2568 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องคดีที่ผู้ใช้บริการระบบ OTT ฟ้องว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกับพวก ละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ในการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินกิจการของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ที่ให้บริการระบบ OTT มิให้มีการแทรกโฆษณาคั่นการชมรายการโทรทัศน์ที่เป็นบริการทั่วไปที่ผู้ประกอบกิจการนั้นนำสัญญาณมาถ่ายทอดผ่านแอปพลิเคชันของตนในลักษณะที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2568 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 541/2568 ในคดีหมายเลขดำที่ 198/2567 หมายเลขแดงที่ 840/2567 ของศาลปกครองกลาง ที่นาย น. ผู้ใช้บริการรับชมรายการโทรทัศน์ที่แพร่ภาพและเสียงบนอินเทอร์เน็ต (Over The Top หรือ OTT) ผ่านแอปพลิเคชัน ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองชั้นต้น
ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ประกอบกิจการแอปพลิเคชันให้บริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แบบดั้งเดิม (Over the Top หรือ OTT)แพร่ภาพรายการของช่องโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปบนแอปพลิเคชันของตน โดยผู้ฟ้องคดีและผู้ใช้บริการต้องดูโฆษณาก่อนและระหว่างการรับชมเนื้อหารายการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 27 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยไม่กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการให้บริการโทรทัศน์แบบ OTT และไม่ดำเนินการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว
เป็นเหตุให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบ OTT ปิดกั้นช่องทางการรับชมภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง จากช่องโทรทัศน์ที่เป็นบริการทั่วไปที่นำมาแพร่ภาพบนแอปพลิเคชันของตน ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ในการกำกับดูแลการให้บริการโทรทัศน์แบบ OTT ของผู้ประกอบกิจการรายนี้ ซึ่งเป็นกิจการให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการ ไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมและฟังโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือหลายระบบรวมกัน อันเป็นกิจการที่จัดอยู่ในนิยามของคำว่า "กิจการโทรทัศน์" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
ซึ่งบัญญัติว่า "กิจการโทรทัศน์" หมายความว่า กิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรทัศน์ซึ่งให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมและฟังการให้บริการนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกันที่ กสทช. กำหนดให้เป็นกิจการโทรทัศน์
กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดหลักเกณฑ์และดำเนินการกำกับดูแลกิจการให้บริการแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แบบดั้งเดิม (Over the Top หรือ OTT) และดำเนินการกำกับดูแลกิจการดังกล่าวเพื่อมิให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการแทรกโฆษณาระหว่างชมรายการ รวมทั้งให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์แบบ OTT ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีจึงต้องมีคำบังคับโดยการสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง และโดยที่การฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีโดยมีข้อหาหลักว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามละเลยต่อหน้าที่ในการออกหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการให้บริการโทรทัศน์แบบ OTT และไม่กำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่
เพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการใช้เครือข่ายบริการโทรทัศน์เพื่อการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่าผลจากคำพิพากษานี้จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป กรณีถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาตามรูปคดีต่อไป
อ่านข่าว :
จบแล้ว ประมูลคลื่นมือถือ ทรู-เอไอเอสแบ่งเค้กลงตัว มูลค่า 4.1 หมื่นล้าน