วันนี้ (23 ก.ค.2568) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยผ่านทรูธ โซเชียล ว่า สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับฟิลิปปินส์ หลังการเยือนทำเนียบขาวของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น)
ทรัมป์ ระบุว่า ได้ข้อสรุปข้อตกลงทางการค้า ฟิลิปปินส์จะเปิดตลาดเสรีให้กับสหรัฐฯ โดยไม่เก็บภาษีแลกกับการที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีฟิลิปปินส์ลดลงเหลือร้อยละ 19 และทั้งสองชาติจะร่วมมือกันด้านการทหารด้วย
การพบปะครั้งนี้ ทำให้มาร์กอสเป็นผู้นำคนแรกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้พบกับทรัมป์ในการดำรงตำแหน่ง ผู้นำสหรัฐฯ วาระที่ 2 ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. ทรัมป์เพิ่งขู่จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าฟิลิปปินส์เป็นร้อยละ 20 จากเดิมร้อยละ 17 ที่ระบุไว้ในเดือน เม.ย.
อ่านข่าว : ผู้นำฟิลิปปินส์บินตรงสหรัฐฯ หารือ "ทรัมป์" ต่อรองลดภาษี
ในปี 2024 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าทวิภาคีกับฟิลิปปินส์เกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการค้าทวิภาคีทั้งหมด 23,000 ล้านดอลลาร์ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าหลักที่ส่งจากฟิลิปปินส์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ, อาหารแปรรูป, เครื่องจักร และเครื่องแต่งกาย
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปยังฟิลิปปินส์มูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าหลักที่สหรัฐฯ ส่งออกไป รวมถึงคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ รวมถึงอาหารแปรรูป เช่นกัน ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ 5 เท่านั้นที่ดีลข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้สหรัฐฯ จะเคยตั้งเป้าดีล 90 ประเทศในช่วงผ่อนผันภาษี 90 วันก็ตาม
อินโดนีเซียเลิกกีดกันการค้าสหรัฐฯ แลกลดภาษี
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงการค้ากับอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียจะไม่เก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ มากกว่าร้อยละ 99 และจะยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ ต่อสินค้าอเมริกันทั้งหมดด้วย แลกกับการให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษีที่เคยขู่ว่าจะเรียกเก็บจากสินค้าอินโดนีเซียจากร้อยละ 32 เหลือ 19
การหารือเพิ่มเติมระหว่างเจ้าหน้าที่สองประเทศได้ข้อสรุปเพิ่มว่า อินโดนีเซียจะยกเลิกการตรวจสอบและยืนยันสินค้าก่อนการจัดส่ง ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ยุ่งยากและส่งผลให้การขาดดุลการค้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังตกลงที่จะยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยยานยนต์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สำหรับรถยนต์ที่ส่งออกจากสหรัฐฯ ไปยังอินโดนีเซีย, ยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญ, ยกเลิกการเก็บภาษีรายได้จากบริการดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมถึงรายได้จากการโฆษณาบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์ สินค้ายอดนิยม 2 อันดับแรกที่ชาวอเมริกันซื้อจากอินโดนีเซียคือ เครื่องแต่งกายและรองเท้า
ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว โดยสินค้าส่งออกหลัก 2 อันดับแรกได้แก่ เมล็ดพืชน้ำมันและธัญพืช รวมถึงน้ำมันและก๊าซ
อ่านข่าว : ชายอเมริกันถูกเครื่อง MRI ดูดดับปมสวมสร้อย 9 กก.เข้าห้องสแกน