ส่งเสริมการ"ปลูกป่า" คือส่งเสริม"อาชญากรรม"ทำลายป่า

24 มี.ค. 55
09:06
15
Logo Thai PBS
ส่งเสริมการ"ปลูกป่า" คือส่งเสริม"อาชญากรรม"ทำลายป่า

โดย โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

การปลูกป่ามีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนป่าที่ถูกทำลาย แต่ในความเป็นจริงได้ผลน้อยมาก ที่สำคัญการมุ่งไปที่การปลูกป่ายังทำให้ละเลยต่อการปราบปรามการทำลายป่าอีกด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกระแสการส่งเสริมการปลูกป่ากันมากมาย แต่ โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เชื่อว่า คงเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล และทำให้เป้าการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า เปลี่ยนไปเป็นการปลูกป่า ทำให้ขาดความสนใจในการแก้ไขปัญหาหลัก มุ่งเน้นการทำสิ่งที่ง่าย ๆ แต่ไม่มีประสิทธิผล

จะเห็นได้ว่า หลังจากนายสืบ นาคะเสถียร ยอมปลิดชีพตัวเองเพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเมื่อปี 2533  แต่การตัดไม้ทำลายป่ายังมีเกิดขึ้นอย่างไม่ลดละ ตามข้อมูลปี 2533 ประเทศไทยมีป่าไม้อยู่ทั้งสิ้น 87,488,536 ไร่ หรือคิดเป็น 27.3% ของพื้นที่ประเทศไทย แต่หลังจากที่นายบตายไป 9 ปี คือ ณ ปี 2542 ป่าไม้เหลืออยู่เพียง 80,610,219 ไร่ หรือคิดเป็น 25.1% ของพื้นที่ประเทศไทย พื้นที่ป่าไม้หายไปถึง 6,878,317 ไร่ หรือเท่ากับ 7 เท่าของขนาดของกรุงเทพมหานคร

ถ้าหากเจาะลึกไปเฉพาะจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าห้วยขาแข้งจะพบว่า ในปี 2533 ที่นายสืบเสียชีวิตนั้น ยังมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ 1,686,863 ไร่ แต่พอถึงปี 2542 หรือ 9 ปีหลังจากนั้น พื้นที่ป่าหายไปเหลือ 1,610,219 ไร่ หรือหายไป 76,644 ไร่ หรือเท่ากับประมาณ 213 เท่าของขนาดสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร หรือเท่ากับการสูญเสียพื้นที่ป่าประมาณขนาด 24 เท่าของสวนลุมพินีในแต่ละปีในจังหวัดอุทัยธานีที่นายสืบเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องป่า

พื้นที่ป่าไม้นับแต่หลังปี 2543 กลับมีขนาดเพิ่มขึ้น ซึ่งคงเป็นเพราะการนับรวมพื้นที่บางส่วนของ “พื้นที่นอกการเกษตร” เดิมให้ถือเป็นป่า จึงทำให้ป่าในปี 2548 กลับมีพื้นที่เพิ่มเป็น 32.7% จาก 25.1% ในปี 2542 อย่างไรก็ตามหากเอาอัตราการลดของพื้นที่ป่าแต่เดิม โดยพิจารณาจากอัตราการลดล่าสุด 4 ปีสุดท้าย (ปี 2539-2542) ของข้อมูลชุดเดิม อาจประมาณการได้ว่าพื้นที่ป่าไม้ในขณะนี้น่าจะลดลงเหลือเพียง 24% ของพื้นที่ประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงไปถึง 578,121 ไร่ต่อปี

หากคิดบนฐานเดียวกันนี้ พื้นที่ป่าในจังหวัดอุทัยธานี น่าจะเหลือเพียง 1,589,355 ไร่ หรือ 37.8% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด หรืออาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดนี้ลดลงในช่วงปี 2533-2551 ถึง 97,508 ไร่ หรือเท่ากับหนึ่งในสิบของขนาดของกรุงเทพมหานคร

จากตัวเลขข้างต้นนี้ เท่ากับประเทศไทยสูญเสียนายสืบไปเปล่า ๆ หรือไม่ ทำไมป่าจึงยังถูกทำลายอยู่แทบทุกวันไม่ขาดสาย สิ่งที่ควรทบทวนอีกประการหนึ่งก็คือ กิจกรรมที่เราคิดว่าเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของนายสืบนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เช่น การปลูกป่า ที่ผ่านมามีคณะบุคคลมากมายปลูกป่ากันยกใหญ่ แต่แล้วได้ผลเพียงใด เป็นเพียงการทำตามแฟชั่นหรือไม่

การปลูกป่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลลงทุนไปปีละ 500 - 600 ล้านบาท แต่สามารถปลูกป่าทดแทนเพิ่มได้เพียง 10,000 ไร่ต่อปี ขณะที่สัดส่วนการหายไปของพื้นที่ป่ามีนับแสนไร่ต่อปี  และเชื่อว่า ป่าที่ปลูกอย่างเป็นแฟชั่นนั้น อาจปลูกไม่รอดอีกไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ ดังนั้นการปลูกป่าจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่จะสืบทอดเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของนายสืบ

ในการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้น รัฐบาลควรเน้นการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าด้วยมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกป่า หากฉุกคิดกันสักนิด การส่งเสริมการปลูกป่าอาจเท่ากับเป็นการบิดเบือนประเด็น ทำให้สังคมส่วนรวมไม่มีโอกาสตระหนักถึงความจริงที่ทรัพยากรของประเทศถูกทำลายลงไปทุกวันเพราะหลงนึกว่าป่าสามารถปลูกเสริมแทนพอกัน

หากจะช่วยประเทศชาติ ก็ควรเน้นบทบาทการ “รายงาน-เปิดโปงการบุกรุกทำลายป่า” มากกว่าการปลูกป่า ในการนี้คงไม่ใช่การส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานไปแลกชีวิตกับอาชญากร  หน่วยงานอาจร่วมกันระดมทุนบริจาคเพื่อจ้าง “มืออาชีพ” ไปสำรวจแล้วทางผู้ปฏิบัติงาน ในสำนักงานค่อยมาเขียนรายงานเปิดโปงต่อสังคม เชื่อว่าการทำเช่นนี้คงช่วยปรามการบุกรุกป่าได้ชะงัดทีเดียว

การปลูกป่านั้น แม้ผู้ปลูกจะมีเจตนาที่ดีต่อสังคมและประเทศชาติ แต่ความดีที่บังเกิดนั้น ไม่ใช่ได้กับประเทศชาติเพราะเป็นการกระทำที่บิดเบือนและไม่มีประสิทธิผล ความดีนั้นบังเกิดกับคนทำดีเอาหน้ามากกว่ากับป่าไม้ของชาติ

ป่าของไทยเราถูกทำลายไปมากมาย นายสืบ นาคะเสถียร ยอมตายเพื่อพิทักษ์ป่า นับเป็นการสละชีพเพื่อชาติโดยแท้ แต่ต่อให้ตายอีกนับสิบ “สืบ” ป่าก็ยังคงร่อยหรอลงทุกวัน หากเราไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับอาชญากรผู้ตัดไม้ทำลายป่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง