มอง “เชียงใหม่” 700 กว่าปี ด้วยสายตานักประวัติศาสตร์-สถาปัตย์

ไลฟ์สไตล์
16 ก.พ. 66
14:56
1,079
Logo Thai PBS
มอง “เชียงใหม่” 700 กว่าปี ด้วยสายตานักประวัติศาสตร์-สถาปัตย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เยือนเมืองเหนือ พูดคุยกับนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในเมืองเชียงใหม่ ตึกรามบ้านช่องสไตล์ล้านนาและการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างถิ่น

มองเมืองเชียงใหม่ที่มีอายุ 700 กว่าปี ดูเหมือนยาวนานและเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัย ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ชุมชน ผู้คน สถาปัตยกรรม ฯลฯ

การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่มีผู้คน ชุมชน ขับเคลื่อนความเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรม เป็นที่พักอาศัย วัดวาอาราม คุ้มบ้านเจ้าเรือนทั้งหลาย ต่างสะท้อนออกมาถึงแต่ละช่วงเวลา

“รศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ” อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์เมือง เล่าให้ฟังว่า งานสถาปัตยกรรมล้านนาแบ่งเป็นหลายกลุ่ม หลัก ๆ คือ บ้าน วัด วัง ล้วนเป็นองค์ประกอบของเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่ผสมผสานกัน ปัจจุบันวังหายไป บริบทของสังคมเปลี่ยนไป แต่บ้านยังอยู่ เปลี่ยนหน้าที่ใช้สอย ส่วนวัดก็ยังอยู่ ใช้ประกอบพิธีกรรม

รศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ

รศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ

รศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ

คาแร็กเตอร์ของสถาปัตยกรรมล้านนา เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีอัตลักษณ์ ไม่ได้ยิ่งใหญ่เมื่อเทียบกับสถาปัตยกรรมตะวันตก หรือภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก เป็นสถาปัตยกรรมที่อ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุที่พบเห็นในสภาพแวดล้อม บ้านเรือนของคนในอดีตจึงใช้ไม้เป็นหลัก

เมื่อพัฒนาการของสังคมเปลี่ยนไป เชียงใหม่เป็นภูมิภาคพิเศษที่รับ แลกและปรับเปลี่ยน ในช่วงที่คนจีนเข้ามา เรารับเอานวัตกรรมทั้งการก่ออิฐ ฉาบปูน ใช้คอนกรีต ใช้เหล็ก ซึ่งคนจีนมีความเชี่ยวชาญ

ดร.ชาญณรงค์ เล่าต่อว่า ช่วงที่มีคนชาติตะวันตกเข้ามา โดยเฉพาะหลังรัชกาลที่ 5 เป็นต้นไป เรามีสัมปทานป่าไม้ให้กับอังกฤษ ซึ่งอังกฤษได้นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการก่อสร้างเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่ออิฐขนาดใหญ่ ทำโค้ง ทำลวดลายตกแต่งอย่างฝรั่ง เช่น คุมเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผสมผสานกัน

      “สถาปัตยกรรมล้านนาผสมผสานกัน กลายเป็นสถาปัตยกรรมอีกยุคหนึ่ง เริ่มต้นสถาปัตยกรรมของล้านนาเป็นไม้ พัฒนาการขึ้นโดยผสมผสานเทคโนโลยีที่เข้ามาจากพม่า จีน ตะวันตก และอนาคตเชื่อว่าจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา”

เป็นเรื่องปกติที่เมืองกับสถาปัตยกรรมจะต้องเป็นพลวัต เมื่อเทคโนโลยี บริบทสังคมและผู้คนเปลี่ยน ที่สำคัญรสนิยมคนเปลี่ยน สถาปัตยกรรมก็ปรับเปลี่ยนไปด้วย

พระธาตุเจดีย์หลวง ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

พระธาตุเจดีย์หลวง ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

พระธาตุเจดีย์หลวง ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

วัฒนธรรมต่างชาติพบเห็นได้ในเชียงใหม่

ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า ยุคแรกของเมืองเชียงใหม่ รับวัฒนธรรมมาจากพม่า พุกาม โดยเฉพาะสกุลช่างต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานศาสนา งานตกแต่ง งานปูนปั้น

ถัดมาในยุคของล้านนาที่เป็นยุคทอง รับวัฒนธรรมจากสุโขทัย พร้อมกับศาสนาแบบลังกาวงศ์ ต่อมารับวัฒนธรรมจากจีน ทั้งเรื่องลวดลาย เครื่องถ้วย ไม้แกะ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ

เมื่อรถไฟเข้าถึง เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคอนกรีต เหล็กดัด ก็เข้ามา จากนั้นก็รับวัฒนธรรมจากตะวันตก ยุควิคตอเรีย โดยจะพบว่ามีงานสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิง

เพราะฉะนั้น เชียงใหม่มีการผสมผสานและกลายเป็นคาแรกเตอร์ เช่น คุมเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นอาคารอายุ 130 ปี ปัจจุบันเป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา เป็นตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างงานสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบวิกตอเรีย เรือนล้านนา และโครงสร้างหลังคาแบบฝรั่ง

คุมเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

คุมเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

คุมเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

ลูกหลาน-คนรุ่นหลัง กลับมาบูรณะบ้านเก่า

งานสถาปัตยกรรมเดิมถูกปรับเปลี่ยน เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยน ผู้คนเปลี่ยนและวิถีชีวิตของคนเปลี่ยน “ดร.ชาญณรรงค์” ยกตัวอย่าง เรือนไทยล้านนา เรือนกาแล ยกใต้ถุนสูง เป็นเรือนที่เปิดโล่ง

      “ถึงเวลาหนึ่งเราจำเป็นต้องใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ บ้านต้องมีเฟอร์นิเจอร์แบบจีนแบบฝรั่ง ต้องมีมุ้งลวด มีที่จอดรถ ใต้ถุนที่เคยจอดเกวียนก็ไม่ถูกใช้ เพราะฉะนั้นบ้านร่วมสมัยบางช่วงไม่ได้หายไป แต่ก่ออิฐปิดเพื่อใช้ประโยชน์ใต้ถุนเรือน จากเคยจอดเกวียนกลายเป็นจอดรถยนต์ ข้างบนเรือนที่เคยเปิดโล่งก็ใส่มุ้งลวด มันไม่ได้หายไป แต่ถูกปรับเปลี่ยน”

ยกเว้นบางครอบครัวที่บ้านเรือนมีสมาชิกน้อย ลูกหลานออกไปทำงานที่อื่น เหลือแต่คนแก่ เมื่อคนแก่ตายไปมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ปล่อยทิ้งร้าง หรือ ถวายให้กับวัด ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะบ้านเรือนของเจ้านาย คุ้มเจ้านาย เมื่อเจ้าของเรือนตายไป ลูกหลานไม่อยากอยู่ก็ถวายให้วัด

ส่วนเรือนที่ถูกทิ้งร้าง อาจเป็นเพราะปัญญาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน “เชียงใหม่” ถูกรื้อฟื้นด้วยเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ลูกหลานที่มองเห็นศักยภาพของเรือนเหล่านั้น เห็นตัวอย่างจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ก็กลับมาบูรณะใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะอาคารที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์และถูกทิ้งร้าง ท้ายที่สุดจะผุพังไปตามกาลเวลา

หุ่นจำลอง เรือนกาแล (พญาวงศ์)

หุ่นจำลอง เรือนกาแล (พญาวงศ์)

หุ่นจำลอง เรือนกาแล (พญาวงศ์)

สถาปนิกรุ่นใหม่เก่ง ปรับอาคารเก่าให้ร่วมสมัยได้

ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า อยู่ที่การใช้และการออกแบบ เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของสถาปนิกและนักออกแบบด้วยว่า ทำอย่างไรถึงจะคงไว้ซึ่งรูปแบบและจิตวิญญาณของงานสถาปัตยกรรม สำคัญที่สุดคือ ตัวงานสถาปัตยกรรมมีอัตลักษณ์และคาแรกเตอร์ จะสามารถหยิบยกและคงอัตลักษณ์เหล่านั้นไว้ได้อย่างไร

ถ้าอาคารหลังหนึ่งถูกปรับเปลี่ยนไป ใช้สอยจนไม่เห็นร่องรอยที่เป็นอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของตัวงานสถาปัตยกรรมนั้น ก็ถือว่าเราใช้ประโยชน์และคงอัตลักษณ์ไว้ได้ไม่เต็มที่

แต่สถาปนิกรุ่นใหม่ถือว่าเก่ง มีหลายอาคารที่ออกแบบได้ดี เก็บคาแรกเตอร์และอัตลักษณ์ของอาคารเหล่านั้นไว้ให้คนได้ชื่นชม

การรีโนเวทและปรับปรุงอาคาร ประวัติศาสตร์และการศึกษาเรื่องราวของอาคารเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ จับคาแรกเตอร์ออกมา แล้วปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและฟังก์ชันใหม่

ตึกเก่าตรงข้ามวัดอุปคุต

ตึกเก่าตรงข้ามวัดอุปคุต

ตึกเก่าตรงข้ามวัดอุปคุต

สถาปัตยกรรมยุคใหม่ในมุมของ “สถาปนิก”

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ บอกว่า สถาปัตยกรรมมีพัฒนาการไปตามช่วงระยะเวลา ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นมี Criteria หรือกฎเกณฑ์ของมัน สำคัญคือวิถีชีวิต ผู้คน บริบทของสังคม เทคโนโลยี เป็นตัวกำหนดและเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ทำให้สถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป

ถามว่าผิดไหมที่งานสถาปัตยกรรมเดิมจะเปลี่ยน มันไม่ผิด เป็นพัฒนาการปกติ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้สถาปัตยกรรมที่พัฒนาการใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างไร

คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า สถาปัตยกรรมจะพัฒนาการและสร้างนวัตกรรมอย่างไร แต่คำถามที่ถูกต้องก็คือ คนจะอยู่ร่วมกับสถาปัตยกรรมนั้นได้อย่างไร ในบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อม

      “เชียงใหม่ เป็นเมืองมหัศจรรย์ มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร เป็นเมืองที่มีทั้งรับ แลก ปรับเปลี่ยน และต่อต้านมาโดยตลอด สิ่งที่ดีของเมืองเชียงใหม่คือการรับสิ่งดีนำมาใช้ปรับปรุง อะไรไม่ดีถูกเลือกสรรแล้วหายไปในที่สุด สถาปัตยกรรมก็เหมือนกัน แต่ละยุค แต่ละสมัย มีการรับ แลก เปลี่ยนและปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต”

“สถาปัตยกรรมเชียงใหม่” ยังเปลี่ยนได้อีก ?

คาดเดาไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เพราะสถาปัตยกรรมจริง ๆ คือปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เป็นเรื่องการอุบัติใหม่ทางนวัตกรรมการออกแบบ หลายเรื่องสถาปนิกก็ไม่รู้ว่าแนวนั้นมันจะออกมา

ดร.ชาญณรงค์ เชื่อว่า เมื่อใดก็ตามที่เมืองยังมีชีวิต เมืองยังมีจิตวิญญาณ การรับงานสถาปัตยกรรมแบบใหม่ ๆ เข้ามา ย่อมมีโอกาส ถ้าเมืองเชียงใหม่ยังมีผู้คน มีผู้รู้ เชื่อว่าจะเลือกรับในสิ่งที่ดี เพื่อให้เมืองอยู่ได้กับงานสถาปัตยกรรม อยู่ได้กับจิตวิญญาณที่เป็นวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนเชียงใหม่เอง

ตึกเก่าย่านท่าแพ

ตึกเก่าย่านท่าแพ

ตึกเก่าย่านท่าแพ

"เด็กสถาปัตย์" เรียนอะไรกัน

เราถาม ดร.ชาญณรงค์ ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนสถาปัตยกรรมและเป็นนักประวัติศาสตร์ สอนเด็กรุ่นใหม่อย่างไร สอนอะไร แล้วเด็กสมัยนี้ต้องรู้อะไร

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกหลักสูตรจะมีวิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

ผมคิดว่า สถาปนิกจะไม่สามารถออกแบบนวัตกรรมสมัยใหม่ได้ ถ้าเขาไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง ไม่รู้จักวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง

การไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง หมายความว่าเขาไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตมาก่อน เพราะฉะนั้นคณะฯ จะบ่มเพาะสถาปนิกรุ่นใหม่ให้ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์ คุณค่างานสถาปัตยกรรม ไม่ใช่คุณค่าเฉพาะกายภาพที่เห็นหรือจับต้องได้เท่านั้น แต่สิ่งที่อยู่ภายใต้สิ่งที่จับต้องได้ คือจิตวิญญาณของสถาปัตยกรรม

จิตวิญญาณ คือวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ข้างใน วัฒนธรรมประเพณีที่หล่อหลอมทั้งในมุมของตัวอาคาร สภาพแวดล้อมด้านนอก ภูมิทัศน์และภาพกว้างของเมืองที่สถาปัตยกรรมตั้งอยู่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ สถาปัตยกรรมจะอยู่ร่วมกับบริบทได้อย่างสมดุลอย่างไรต่างหาก

เมืองเชียงใหม่ พญามังรายสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม คือสัญลักษณ์ของความสมดุล มันคือบาลานซ์

นั่นหมายความว่า พระองค์ตั้งเป้าไว้แล้วว่าเมืองนี้ต้องมีชีวิต มีชีวิตที่ผสมผสานทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้คน รวมถึงงานสถาปัตยกรรม เพราะฉะนั้นอนาคตสถาปัตยกรรมจะอยู่กับเมืองอย่างสมดุลได้อย่างไร ให้สมกับสิ่งที่พญามังรายวางนโยบายไว้ตั้งแต่อดีต

ผังสร้างบ้านแปงเมือง “เชียงใหม่”

ผังสร้างบ้านแปงเมือง “เชียงใหม่”

ผังสร้างบ้านแปงเมือง “เชียงใหม่”

อยากเห็นเชียงใหม่เปลี่ยนเป็นแบบไหน

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์เมือง สะท้อนว่า เมืองเชียงใหม่ สิ่งดีคือเรื่องจิตวิญญาณของเมือง วัฒนธรรมประเพณีที่ยังคงอยู่และผู้คนเข้มแข็ง ช่วยเป็นหูเป็นตาปรับเปลี่ยนทั้งกายภาพ สิ่งแวดล้อมและสืบสานวัฒนธรรม

แต่ที่ต้องเดินหน้าต่อคือ เรื่องการจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชน อนาคตหากปักธงให้กับเมืองว่าจะไปในทิศทางไหน ก็จะชัดขึ้น

ชาวต่างชาติ นักวิชาการหลายคนมาเยือนเชียงใหม่ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองน่ารัก แต่ถ้าไม่ได้รับการจัดการ เชียงใหม่ก็จะ Out of Control พัฒนาการไปโดยไร้กรอบ

เมืองเชียงใหม่มีทิศทางไม่กี่ทิศทาง เราเคลื่อนได้ด้วยวัฒนธรรม การท่องเที่ยว แต่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นทุนวัฒนธรรมอย่างลงตัวได้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีต ปัจจุบัน อนาคต “ชุมชนล่ามช้าง” กับการอนุรักษ์ล้านนา

“วัดต้นเกว๋น” ต้นแบบอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมล้านนา

วันนี้ที่ “กาดหลวง” ในวันที่เชียงใหม่ไม่เหมือนเดิม

ต๋ามฮีตโตยฮอยบนถนนสุดฮิป : นิมมานเหมินท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง