ไม่เพียงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแต่ยังมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานทีมกฎหมาย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา และ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมประชุมวางแนวทางการต่อสู้คดีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารและวางกรอบคำแถลงปิดคดีด้วยวาจา โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินว้ตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
หลังใช้เวลาหารือยาวนานร่วม 2 ชั่วโมงครึ่ง นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร ในฐานะหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริง เปิดเผยว่า ทีมทนายความสู้คดีของฝ่ายไทยได้ชี้แจงแนวทางการต่อสู้คดีให้เป็นที่รับทราบแล้ว ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมบางประการ และย้ำให้ปรับแต่คำแถลงปิดคดีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศบูรณาการการทำงานกับกระทรวงกลาโหม เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย และ ย้ำให้ทีมทนายความต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันถึงแผนปฏิบัติการรองรับผลแห่งคดีหากการตัดสินของศาลโลกไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายไทยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกองทัพจะไม่แสดงออกถึงความก้าวร้าว แต่จะยึดตามกติกาและกฎหมาย ซึ่งการดูแลรักษาและปกป้องอธิปไตยของไทยตามแนวชายแดนที่เป็นพื้นที่พิพาทต้องรักษากติกาและกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมกับย้ำว่า การใช้กำลังสู้รบจะเป็นหนทางสุดท้ายในการแก้ปัญหา
ก่อนหน้านี้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงปฏิเสธเป็นโฆษกให้รัฐบาลกัมพูชา กรณีนำเอกสารที่กัมพูชาตำหนิรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาเผยแพร่ แต่ชี้แจงว่า เจตนาต้องการให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริง และเปิดเผยว่า เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ได้รายงานว่า กัมพูชา ระบุความจำเป็นที่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลโลก เพราะไม่มีทางเลือกอื่น และ การแถลงปิดคดีด้วยวาจาในเดือนเมษายนอาจต้องพาดพิงถึงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การตอบโต้สมเด็จฮุนเซน เป็นการปกป้องสิทธิของตัวเองและชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมระบุว่า รัฐบาลควรตอบโต้สมเด็จฮุนเซนเช่นกัน เพราะหากเพิกเฉยอาจกระทบต่อความสามารถในการต่อสู้คดีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารได้
ส่วนนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาปรับนายสุรพงษ์ออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุที่นำเอกสารต่างประเทศที่ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้มาอ้างอิงโจมตีพรรคฝ่ายค้าน และ ประเทศไทย พร้อมตั้งข้อสังเกต 3 กรณี ประกอบไปด้วย กรณีกัมพูชาได้สิทธิ์จัดประชุมมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว,กรณีรัฐบาลไม่ตอบโต้กัมพูชาหลังกล่าวหาไทยรุกราน และ กรณี พล.อ.เตีย บันห์ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเคยเสนอการลงทุนพัฒนาพลังงาน ซึ่งเชื่อว่า เป็นหลักฐานที่ชี้ได้ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น