อดีต กนง.ชี้"การเมือง"กดดัน"กนง."ลดดอกเบี้ยนโยบาย

เศรษฐกิจ
29 พ.ค. 56
14:21
129
Logo Thai PBS
อดีต กนง.ชี้"การเมือง"กดดัน"กนง."ลดดอกเบี้ยนโยบาย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันนี้ (29 พ.ค.) ถูกจับตามองมากที่สุดอีกครั้ง หลังฝ่ายการเมือง เรียกพบผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อม กนง.ทั้งคณะ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนทุกครั้งว่า ต้องการเห็นดอกเบี้ยนโยบาย ลดลงร้อยละ 1 เพื่อกระตุ้นการส่งออก และเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท

แต่มติ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพียงร้อยละ 0.25 ทำให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผิดหวัง โดยแถลงการณ์ ของกนง. ย้ำว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แก้ปัญหาค่าเงิน ขณะที่ อดีตกรรมการ กนง. มองว่า การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ มีแรงกดดันจากทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ ลดดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เหลือร้อยละ 2.5 โดยมีผลทันที เพื่อส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำเป้าหมาย ส่วนการกำกับเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน มีเครื่องมืออื่น เตรียมพร้อมไว้แล้ว และจะใช้เมื่อจำเป็น

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ย้ำว่า การลดดอกเบี้ยระดับนี้ เหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะยังมีความเสี่ยงแฝง จากการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูง ส่วนการพิจารณาครั้งนี้ มีแรงกดดันจากทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเลขานุการ กนง.ระบุว่า ไม่ทราบแต่ขอให้สังคม ตีความเอง

ขณะที่ ศ.พลายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบาย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองซึ่งการลดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ เปลี่ยนพฤติกรรมนักลงทุน ทำให้กนง.อาจถูกกดดันเรื่องเดิมอีก

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กนง.ลดดอกเบี้ยน้อยไป และตัดสินใจช้าไป แต่ยังดีกว่าไม่ลดดอกเบี้ยเลย ซึ่งกนง.ควรมองให้ไกลมากขึ้น เพราะหากรอข้อมูลจริง อาจไม่ทันต่อสถานการณ์และไม่สามารถป้องกันผลกระทบ จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน จึงขอให้ การประชุม กนง.ครั้งต่อไป ในเดือนหน้า ลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะส่วนต่างดอกเบี้ย ยังจูงใจให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลเข้า

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทขณะนี้ อ่อนค่าลงมากแล้ว ซึ่งนักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลมาตรการดอกเบี้ย แต่กังวลมาตรการอื่นๆ ที่จะมาควบคุมการลงทุนมากกว่า

ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เตรียมมาตรการกำกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน 4 มาตรการ ทั้งแก้ไขประกาศกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และจำกัดเม็ดเงินลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทย แต่ยังไม่บังคับใช้ในขณะนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง