ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณลดขนาด"มาตรการคิวอี" ในสิ้นปี 2013

เศรษฐกิจ
21 มิ.ย. 56
09:58
224
Logo Thai PBS
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณลดขนาด"มาตรการคิวอี" ในสิ้นปี 2013

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve; Fed) ส่งสัญญาณชัดเจนว่าอาจจะลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ลงภายในปีนี้ และอาจจะยุติมาตรการดังกล่าวในช่วงกลางปี 2014 ซึ่งอัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 7%

 ปัจจุบัน Fed ยังคงมาตรการซื้อสินทรัพย์จำนวน 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal funds rate) ไว้ที่ 0-0.25% ตราบใดที่อัตราการว่างงานยังสูงกว่า 6.5% และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ห่างจากระดับเป้าหมายที่ 2% ไม่เกิน 0.5 percentage point

 
Fed มองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น โดยปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2014 ดีขึ้นเป็น 3.0-3.5% จากเดิมที่ 2.9-3.4% และปรับลดประมาณอัตราการว่างงานเป็น 6.5-6.8% ในปี 2014 จากเดิมที่ 6.7-7.0%
 
นอกจากนี้ Fed ยังให้ความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับ Exit Strategy ของมาตรการ QE นั่นคือ Fed จะไม่ขายหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อบ้านค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities; MBS) ในช่วงการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ Fed กล่าวเพียงว่าจะไม่ขาย MBS จนกระทั่งหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว
 
เศรษฐกิจสหรัฐฯ รับมือกับมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดี แต่ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูง ถึงแม้ว่ามาตรการลดภาษี (Payroll tax cut) จะสิ้นสุดไปในช่วงต้นปี 2013 แต่การบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ ทั้งยอดค้าปลีกและยอดขายบ้านยังมีสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับการฟื้นตัวในตลาดแรงงานนั้นมีทั้งสัญญาณที่ดีและไม่ดี โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วง 6 เดือนก่อนเริ่มมาตรการ QE3 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 130,000 คน ในขณะที่ 6 เดือนที่ผ่านมาการจ้างงานต่อเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 194,000 คน ซึ่งมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังอยู่ที่ระดับ 7.6% ซึ่งสูงกว่าระดับที่เหมาะสมในมุมมองของ Fed ค่อนข้างมาก
 
Fed ยังคงให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยการลดขนาดของมาตรการ QE ในช่วงหลังของปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่การตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ (Sequester) จะส่งผลกระทบมากที่สุดต่อเศรษฐกิจ ซึ่งความกังวลดังกล่าวทำให้ Fed แสดงท่าทีว่า ว่ายังคงพร้อมที่จะเพิ่มหรือลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ เนื่องจากไม่ต้องการให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ
 
การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งที่ Fed ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก โดยการซื้อ MBS นั้นเป็นการกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage interest rate) ให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้การซื้อ MBS ยังเป็นสร้างอุปสงค์ต่อหลักทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งประสบปัญหามาตั้งแต่ช่วงวิกฤติซับไพร์ม และเพื่อไม่ให้สินทรัพย์ในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบมากนัก Fed จึงต้องการถือ MBS จนครบกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะช่วยให้ตลาด MBS มีความมั่นคงในระหว่างที่ Fed ดำเนินการยุติมาตรการ QE
Implication
 
การที่ Fed อาจจะลดขนาดของ QE ก่อนสิ้นปี 2013 ได้สร้าง Risk-Off Sentiment เป็นอย่างมาก ซึ่งเงินทุนต่างชาตินั้นได้มีการไหลออกไปยังสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงใกล้เคียงเงินสด (Near Cash Assets) ทั้งนี้ EIC คาดว่าการไหลของเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) นี้จะเกิดขึ้นไประยะหนึ่ง
 
 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเงินทุนจะไหลออกจากประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีความเสี่ยงน้อยมากที่ประเทศไทยจะมีวิกฤติดุลการชำระเงิน (Balance of Payments Crisis) โดยในปัจจุบัน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีมูลค่าเกือบ 3 เท่าของขนาดหนี้ต่างประเทศระยะสั้น นอกจากนี้หนี้ต่างประเทศของไทยโดยรวมอยู่ที่ 39% ของ GDP ต่ำกว่าระดับในปี 1997 ซึ่งอยู่ที่ 65% ค่อนข้างมาก สำหรับหนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารนั้นอยู่ที่ประมาณ 10% ของ GDP ต่ำกว่าระดับในปี 1997 ซึ่งอยู่ที่ 23% ค่อนข้างมากเช่นกัน
 
ความผันผวนในตลาดการเงินนี้ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ลดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และจะบั่นทอนแนวโน้มการลงทุนต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการซื้อบ้าน และคอนโดมิเนียมต่างๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์
 
หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว จะส่งผลเสียต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มส่งสัญญาณความอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ความอ่อนแอของทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรวมไปถึงประเทศไทย ซึ่งภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก ได้แก่ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ และ พลาสติก นอกจากนี้ความอ่อนแอของอุปสงค์จากสหรัฐฯ และจีนนั้น จะกดดันให้ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ (Commodities) ลดลง ซึ่งรวมไปถึงราคายางและมันสำปะหลังที่ไทยเป็นผู้ส่งออกหลักในตลาดโลก
 
ความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนี้จะคงอยู่ต่อไปในระยะสั้นเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นผลจากการไหลของเงินทุนต่างประเทศออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ EIC คาดเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2013
 
มาตรการ QE นั้นไม่ได้มีผลโดยตรงต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในภาวะปัจจุบันที่เงินทุนไหลออกจะไม่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากเท่าไรนัก โดยการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางราคา และการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งนี้ ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2013 การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ทั้งการบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน หากการบริโภคดังกล่าวมีแนวโน้มการชะลอตัวไปมากกว่านี้ โอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง