"วาดเพลง บรรเลงสี วิถีไทย" นิทรรศการสื่อร่วมสมัยจากเพลง และตำนานเก่าแก่

Logo Thai PBS
"วาดเพลง บรรเลงสี วิถีไทย" นิทรรศการสื่อร่วมสมัยจากเพลง และตำนานเก่าแก่

ไม่ใช่แค่การโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เราห่างไกลจากเพลงกล่อมเด็ก แต่เพราะสภาพสังคม และครอบครัวที่เปลี่ยนไปทำให้วันนี้เด็กรุ่นใหม่ร้องได้ แค่ไม่กี่เพลง คุณค่าของวัฒนธรรมพื้นบ้านกำลังจางหายทำให้เหล่านักออกแบบรวมตัวกันสร้าง สื่อร่วมสมัยจากเพลงและตำนานเก่าแก่ หวังเรียกคืนความสนใจจากเยาวชน ในนิทรรศการ การ์ตูนหน้าพระลาน "วาดเพลง บรรเลงสี วิถีไทย"

เพลงกล่อมเด็ก "จันทร์เจ้า" แค่ขึ้นต้นหลายคนก็ร้องตามได้ เพลงดังกล่าวแทรกคำสอนให้พี่น้องต้องดูแลกัน และเป็นไม่กี่เพลงที่ยังเป็นที่รู้จักมาจน ถึงทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายเพลงกล่อมนอนที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจกำลังหายไปจากชีวิต เด็กไทย เมื่อครอบครัวสมัยใหม่ไม่มีเวลาร้องให้ลูกฟัง 23 บทเพลงจึงได้รับการต่ออายุด้วยการตีความเป็นภาพเขียน ก่อนเปลี่ยนเป็นแอนิเมชั่น โดยอยู่ในช่วงขอทุนเพื่อพัฒนาเป็นฟรีแอพลิเคชั่นที่สามารถเปิดฟังในมือถือ และแท็ปเลต ซึ่งเป็นสื่อร่วมสมัยที่เข้าถึงเยาวชน ซึ่งผลงานการออกแบบภาพก่อนทำให้เคลื่อนไหว นำมาจัดแสดงใน นิทรรศการการ์ตูนหน้าพระลาน ครั้งที่ 6 "วาดเพลง บรรเลงสี วิถีไทย"

แม้เคยได้ยินเพลง"วัดโบสถ์" ตอนเด็กๆ แต่เพื่อให้ภาพวาดออกมาใกล้เคียงความคิดคนโบราณ นักวาดภาพประกอบ อย่างธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ ต้องศึกษาจากจิตรกรรมเรื่องเดียวกันบนบานหน้าต่างวัดโพธิ์

ขณะที่การค้น คว้าทำให้นักวาดการ์ตูนไทยรุ่นใหม่ อย่างไตรภัค สุภวัฒนา พบว่าเบื้องหลังเพลงกล่อมนอน คือการให้ครอบครัวได้ผูกพัน นิทรรศการครั้งนี้จึงไม่เพียงสร้างงานศิลปะ แต่หวังกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้รู้จัก และเห็นความสำคัญของเรื่องราวพื้นบ้านไทย ซึ่งนำไปสู่การส่งต่อคุณค่าด้วยความสามารถด้านการออกแบบของพวกเขา

นางตานี เสือสมิง หรือแม่ย่านาง ไม่เพียงเป็นความเชื่อที่ส่งต่อมาหลายชั่วอายุแต่ยังเป็นกุศโลบายให้ผู้คน เคารพสถานที่และระวังตัวในเวลากลางคืน หากตำนานผีไทยกลับไม่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมากเท่าผีต่างชาติ อีกมุมหนึ่งของนิทรรศการ จึงมีผลงานการออกแบบผีไทยให้ร่วมสมัย หวังเรียกคืนความสนใจจากเยาวชนนิทรรศการการ์ตูนหน้าพระลาน "วาดเพลง บรรเลงสี วิถีไทย" จัดแสดงถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ที่หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง