สมาคมผู้ประกอบข้าวถุงไทยเข้มงวดตรวจสอบข้าวสารบรรจุถุง

เศรษฐกิจ
25 ก.ค. 56
04:39
77
Logo Thai PBS
สมาคมผู้ประกอบข้าวถุงไทยเข้มงวดตรวจสอบข้าวสารบรรจุถุง

สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค เพิ่มการตรวจสอบข้าวสารบรรจุถุงทุกเดือน พร้อมยินดีชดเชยเงิน 20 ล้านบาท หากเกิดกรณีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการได้รับสารรมยา "เมทิล โบรไมด์" ปนเปื้อนในข้าว

นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ พร้อมชดเชยเงินค่าเสียหายให้ในวงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในกรณีบริโภคข้าวสารบรรจุที่เป็นของสมาชิกสมาคม และเสียชีวิตจากสารเมทิลโบรไมด์ นอกจากนี้ สมาชิกของสมาคมข้าวถุงกว่า 128 บริษัท ยังจะนำตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงใน 128 บริษัท ไปตรวจสอบยังห้องปฎิบัติการตามหลักสากล ซึ่งทางสมาคมจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบทั้งหมด โดยจะเริ่มตรวจสอบครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไปจนครบ 1 ปี โดยจะตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน จากนั้นจะประเมินผลโครงกล่าวดังกล่าวต่อไป

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้ประสานกับบริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายข้าว ยี่ห้อ โค-โค่ ที่ตรวจพบปริมาณเมทิลโบรไมด์ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส หรือที่อยู่ในเปลือกข้าว และเนื้อข้าว จากการได้น้ำที่มีสารเมทิลโบรไมด์ วัดเป็นโบรไมด์ ไอออน เกินเกณฑ์มาตรฐานถึง 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานความปลอดภัยอาหารระหว่างประเทศ

แต่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวยินดีเก็บสินค้าทั้ง 2 ล็อต คืนจากตลาด รวมไปถึงล็อตต่างๆ เพื่อไปผ่านกระบวนการตากใหม่ ทั้งนี้บริษัทยังประกาศ ที่จะเลิกการรมควันข้าวหลังจากบรรจุถุงแล้วด้วย ทั้งนี้ อย.จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกตรวจตัวอย่างข้าวอย่างต่อเนื่อง หากพบผิดซ้ำจะสั่งทำลายทันที

พร้อมกันนี้ อย.เตรียมเสนอปรับแก้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานปริมาณสารรมยาตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็กซ์ คือ เมธิลโบรไมด์ ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โบรไมด์ ไอออน ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และฟอสฟีน ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และจะเสนอให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามภายในสัปดาห์นี้ มีผลบังคับใช้ทันที

ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุ เป็นห่วงคุณภาพข้าวสารในโครงการรับจำนำของรัฐที่นำมาบรรจุถุงมากกว่า เนื่องจากสต็อกข้าวที่จำนวนมาก และระบายออกได้น้อย ทำให้ต้องรมยาข้าวมากกว่าปกติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง