สภาฯ ผ่านงบฯ รายจ่ายประจำปี 2557

การเมือง
24 ส.ค. 56
03:49
37
Logo Thai PBS
สภาฯ ผ่านงบฯ รายจ่ายประจำปี 2557

สภาผู้แทนราษฏร ใช้เวลา 4 วันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เนื่องจากเกิดการประท้วงในช่วง 2 วันแรก ทำให้การเข้าสู่สาระตามมาตราต่างๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า แต่ในวันสุดท้ายการประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่น ทำให้ที่ประชุมฯสามารถลงมติเห็นชอบวาระ 3 ได้ในที่สุด โดยจากนี้จะส่งร่างฯ บรรจุให้ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาต่อไป

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เกิดเหตุประท้วง กรณีการอภิปราย มาตรา 25 งบฯ ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้การอภิปรายที่ต่อเนื่องมาโดยตลอดต้องหยุดชะงัก เนื่องจากระหว่างการอภิปรายงบฯ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการพาดพิงถึงเหตุผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง แต่ท้ายสุดก็สามารถลงมติเห็นชอบผ่านมาได้ ด้วยเสียงข้างมาก 289 เสียง

จากนั้นเข้าสู่การอภิปราย มาตรา 26 งบฯ รัฐสภา ที่ส่วนใหญ่อภิปรายชี้ถึงการจัดงบฯ ไม่เหมาะสม และตั้งข้อสังเกตเอื้อต่อเหตุทุจริต เช่น การปรับปรุงอาคารรัฐสภา รวมถึงการจัดซื้อนาฬิกาที่แพงเกินจริง

ส่วน มาตรา 27 งบฯ หน่วยงานของศาล มาตรา 28 งบฯ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระ มาตรา 29 งบฯจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ไม่มีผู้ขอแปรญญัติ

มาตรา 30 งบฯ รัฐวิสาหกิจ ที่ประชุมเห็นชอบ 288 เสียง โดยมาตรา 31 งบฯ สภากาชาดไทย ไม่มีการแก้ไข

โดยมาตรา 32 กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่ประชุมเห็นชอบ 288 เสียง

มาตรา 33 งบฯ เพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีการแก้ไข ส่วนมาตรา 34 ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งจ่ายเงินแผ่นดิน ผู้สงวนคำแปรญัตติ อภิปรายขอให้เพิ่มเติมคำต่อท้ายว่า ควรผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ก่อน ซึ่งกรรมาธิการฯ รับที่จะไปดำเนินการปรับแก้ไขต่อไป และท้ายสุดเห็นชอบไปด้วยคะแนน 293 เสียง และไม่มีการแก้ไขในมาตรา 35 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้ลงมติเห็นชอบวาระ 3 ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 290 เสียง ซึ่งระหว่างนี้ ฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรี ไม่อยู่ร่วมประชุมและไม่มีการกล่าวคำขอบคุณต่อสมาชิกสภาฯ ก่อนจะลงคะแนนในวาระ 3 ทำให้สะท้อนถึงการขาดการมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ แต่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้กล่าวขอบคุณต่อฝ่ายนิติบัญญัติในการทำหน้าที่ครั้งนี้แทน

โดยต่อจากนี้จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกกำหนดนัดประชุมในวันที่ 24 และ 26 สิงหาคม โดยรัฐสภา กำหนดนัดให้ประชุมแก้รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ที่ค้างการพิจารณาในวันที่ 27-28 สิงหาคม ต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง