รัฐเดินหน้ารับจำนำข้าว ชี้ไม่ขัด กม.เลือกตั้ง

เศรษฐกิจ
11 ธ.ค. 56
02:14
56
Logo Thai PBS
รัฐเดินหน้ารับจำนำข้าว ชี้ไม่ขัด กม.เลือกตั้ง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าการรอรัฐบาลชุดใหม่ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เศรษฐกิจอาจซบเซาไปจนถึงไตรมาส 2 ปี 2557 แต่ประเด็นที่น่าสนใจหลังจากนี้ก็คือ นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ อย่างการกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท หรือ โครงการรับจำนำข้าว จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

โครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 1 ปี 2556/2557 หรือข้าวนาปี สามารถดำเนินการต่อได้ และไม่ขัดกฎหมายการเลือกตั้ง เพราะได้ดำเนินการมาแล้วและจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปีหน้า แต่โครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 2 หรือ ข้าวนาปรัง ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

ข้อมูลล่าสุด จากกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม มีเกษตรกรนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 6 ล้านตัน แต่การเบิกจ่ายเงินให้กับเกษตรกร นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.ระบุว่า สามารถจ่ายเงินได้เพียง 13,000 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่า ล่าช้าเมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่เข้าโครงการ เพราะเงินที่ได้จากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์มีความล่าช้า ส่วนปัจจุบันมีเกษตรกร มาขอรับใบประทวน 2.5 ล้านตัน คิดเป็นวง 30,000 ล้านบาท

ขณะที่การตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยืนยันเดินหน้าต่อไป

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ล่าสุดได้รับเอกสารจากองค์การคลังสินค้า หรือ อคส.แล้ว นอกจากนี้ จะขอข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล อย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่มีการผลักดันค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา อาจต้องชะลอออกไปก่อน จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า การลงทุน 2 ล้านล้านบาทที่ล่าช้าออกไป อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงบ้าง

ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประกาศยุบสภา ไม่ได้ส่งผล กระทบต่อ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และวุฒิสภาอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นให้พิจารณาก่อนหน้านี้ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายชัชชาติ บอกว่า หากวินิจฉัยให้เดินหน้าต่อไปได้ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถือว่าร่าง พ.ร.บ. จะตกไปทันที

ด้านนายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า โครงการลงทุนที่ล่าช้าออกไป ถือเป็นการใช้เวลาคิดทบทวนด้วยความรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ใช่ใช้เงินแบบรีบร้อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะสุดท้าย จะนำความเสียหายมาสู่ประเทศ

กระทรวงการคลังกำลังประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการประกาศยุบสภา โดยเฉพาะนโยบายการคลังที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการจำนำข้าว แผนการกู้เงินลงทุนระบบโครงสร้างขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งการกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน และการกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ จะนำข้อมูลทั้งหมด มาคำนวณว่าจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในระยะต่อไปอย่างไรด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง