วันนี้ (15 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านเมืองโขง แขวงจำปาสัก ประเทศลาวว่า ขณะนี้ชาวเมืองโขงกำลังเดือดร้อนมากเนื่องจากทางการลาวได้มีการประกาศให้คนหาปลาในเขตเมืองโขง เลิกการหาปลาด้วยหลี่ ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ที่ใช้หาปลาสำหรับน้ำเชี่ยวและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีคำสั่งว่าให้ “มางหลี่” หรือ ให้รื้อถอนหลี่ออกจากแก่งต่างๆ บริเวณสีพันดอน กลางแม่น้ำโขงภายใน 5 วัน เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ปิดกั้นฮูสะโฮง ซึ่งอาจมีผลทำให้ปลาต่างๆ จากแม่น้ำโขงที่กัมพูชาไม่สามารถว่ายขึ้นไปทางตอนบนได้
ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวของทางการลาวกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก โดยเฉพาะในหมู่คนหาปลาซึ่งมีกว่า 200 คน ที่อาศัยทำมาหากินในพื้นที่เมืองโขงโดยใช้หลี่หาปลา เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักทำให้ระดับแม่น้ำโขงค่อยๆ เพิ่มระดับ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงสำคัญประจำปีของสีพันดอนที่ปลาต่างๆ จากตอนใต้ของแม่น้ำโขงว่ายทวนน้ำขึ้นไปหากินและวางไข่ ซึ่งชาวบ้านเมืองโขงได้ใช้หลีดักปลาที่หมดแรง โดยได้ปลาครั้งละจำนวนมาก บางหลี่ได้ปลามากหลายตัน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์แรกของการจับปลาในสีพันดอน โดยปลาที่กำลังจับได้ในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นจำพวกปลาเกล็ดขนาดเล็กและขนาดกลาง เช่น ปลาขาว ปลาปาก รวมถึงปลาคัง ปลาค้าว โดยขายให้แก่แม่ค้าและเถ้าแก่ในราคาปลารวม ประมาณกิโลกรัมละ 30,000 กีบ (ประมาณ 95 บาท)
นายอินทอง (นามสมมติ) คนหาปลาชาวลาวกล่าวว่า หากห้ามใช้หลี่หรือให้รื้อถอนหลี่ ก็ไม่รู้ว่าจะประกอบอาชีพอะไร การดูแลหลี่หลังหนึ่ง ครอบครัวคนหาปลาต้องกู้เงินเจ้าหนี้ราว 5 ล้านกีบ (ประมาณ 15,500 บาท) มาซ่อมแซมในฤดูแล้ง จากนั้นเมื่อถึงหน้าฝนที่ปลามาเข้าหลี่ จับปลาได้นำไปขายและนำเงินไปคืนใช้หนี้ บางครอบครัวที่ลูกเรียนในเมืองโดยให้เจ้าหนี้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ ซึ่งอาจติดหนี้เถ้าแก่ถึง 40-50 ล้านกีบ แต่ก็สามารถจับปลาจากหลี่นำมาใช้หนี้ได้ทุกๆ ปี
“วิถีชีวิตของเราหากิน สร้างบ้านอยู่ได้ ส่งลูกเต้าเป็นเจ้าเป็นนาย ก็จากการหาปลานี่ล่ะ เขาจะให้มาง(รื้อ)หลี่ แล้วจะมาส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ปลูกผัก จะทำกันยังไง ตลาดมีให้มั้ย เลี้ยงไก่หมดทุกๆ บ้านใครจะซื้อ เมืองโขงที่นี่นักท่องเที่ยว ฝรั่ง มาเที่ยวมาดูวิถีชีวิตของเรา มาดูเกาะแก่งน้ำตกแม่น้ำโขง (ระ)เบิดหลี่ก็คือ(ระ)เบิดเงิน เราอยู่ไม่ได้ ไม่มีทางเลี้ยงครอบครัวแล้ว” นายอินทอง กล่าว
นายวิด (นามสมมุติ) นักเรียนชาวลาว กล่าวว่าตนเรียนหนังสืออยู่ที่ในเมือง แต่วันหยุดก็กลับบ้านที่เมืองโขง และช่วยพ่อจับปลาในหลี่ ซึ่งวันนี้ได้ปลาแล้วเกิน 50 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ส่งขาย ส่วนหนึ่งแบ่งกันกินในหมู่เครือญาติและเพื่อนบ้าน และนำปลาสดใส่ลังน้ำแข็งไปทำกินที่โรงเรียนด้วย
ส่วนความคืบหน้าของโครงการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงนั้น ล่าสุดบริษัทรับเหมาได้ทำการสร้างสะพานจากเวินคามไปยังเกาะดอนสะดำ และปิดช่องน้ำฮูสะโฮงทั้งหมด ซึ่งเป็นช่องน้ำเดียวของสีพันดอนที่ไม่มีแก่งหรือน้ำตกทำให้ปีนี้ (2559) เป็นปีแรกที่ปลาจำนวนมากซึ่งเคยว่ายผ่าน ไม่สามารถใช้ช่องทางน้ำฮูสะโฮงได้อีกต่อไปโดยมีการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างตลอดทุกวัน และเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์มากๆ ทางการลาวจึงสั่งให้รื้อหลี่ทั้งหมดโดยให้เหตุผลว่าจะไปปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลา
โครงการเขื่อนดอนสะโฮง เป็นโครงการเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่างใน สปป.ลาว ตั้งอยู่บนช่องน้ำฮูสะโฮง ในบริเวณแม่น้ำโขงที่สีพันดอน โครงการได้รับสัมปทานโดยบริษัทมาเลเซียเมกะเฟิร์ส (Mega First) และมีการว่าจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทจีน ไซโนไฮโดร (Sinohydro) มีกำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศลาว และขายส่งให้แก่ประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านสายส่งไฟฟ้าของประเทศไทยและมาเลเซีย ที่ผ่านมานักอนุรักษ์ระบุว่าโครงการเขื่อนแห่งนี้จะปิดกั้นช่องทางน้ำที่ปลาแม่น้ำโขงใช้อพยพตลอดทั้งปี ผ่านจากชายแดนกัมพูชาเข้าสู่ตอนบน คือประเทศลาว และเชื่อมสู่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว และลำน้ำสาขาต่างๆ อาทิ แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม