คสช.ใช้ ม.44 ให้อำนาจ กสทช.ปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้

สังคม
14 ก.ค. 59
16:43
610
Logo Thai PBS
คสช.ใช้ ม.44 ให้อำนาจ กสทช.ปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้

วันนี้ (14 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เพื่อกําหนดห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางประเภท นั้น

โดยที่ข้อมูลข่าวสารตามประกาศดังกล่าว มีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ออกอากาศ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการรับรู้และความเข้าใจในการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของผู้ประกอบการไปสู่ประชาชน ทั้งในส่วนของประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามและมาตรการที่จะนํามาใช้ในการกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงจําเป็นต้องกําหนดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้การเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระตามข้อ 3 (1) ถึง (7) ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 เป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แล้วแต่กรณี

ข้อ 2 ในกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือบุคคลที่ได้รับมอบอํานาจจากบุคคลดังกล่าว ได้กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น เพื่อควบคุมดูแลมิให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 1 นับแต่วันที่ประกาศตามข้อ 1 มีผลใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ข้อ 3 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า

ว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในบรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคน โดยเฉพาะสื่อควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อให้สังคมมีข้อมูลรอบด้านที่สุด ในการตัดสินใจ

เพราะฉะนั้น การมีคำสั่งนี้ออกมา ก็ทำให้สื่อมีความรู้สึกว่า ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ อยากให้ คสช.ทบทวนเรื่องนี้ เพราะปกติ กสทช.ก็มีกระบวนการที่จะบริหารจัดการกับผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว มีกติกาที่ชัดเจน มีกระบวนการที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ถ้าจะบอกว่า ปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยก็ควรมีกระบวนการแบบนั้นอยู่ เพราะในคำสั่งอ้างว่า เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เมื่อคุณพูดว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่ก็ต้องเคารพกฎกติกาที่อยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย

“ผมไม่แน่ใจว่า คสช. หรือ กสทช. มีข้อตกลงอะไรกันอยู่หรือเปล่า มันก็ทำให้บทบาทของ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระ ถูกมองว่าถูกแทรกแซง และยิ่งทำให้คนตั้งคำถามถึงร่างกฎหมาย กสทช. ที่ขณะนี้อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าจะทำให้มีความเป็นอิสระแค่ไหน” นายเทพชัยกล่าว

ติดตามข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง