เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2568 "ราธิกา ยาดาฟ" ถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังทำอาหารอยู่ในครัวที่บ้านพักของเธอ นายดีปัก ยาดาฟ ผู้เป็นพ่อสารภาพกับตำรวจว่าเขารู้สึกไม่สบายใจอย่างมากที่ถูกชาวบ้านในหมู่บ้านเย้ยหยันว่าตนกำลัง "ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยรายได้ของลูกสาว" ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น NDTV เขายังกล่าวอีกว่า
บางคนถึงกับตั้งคำถามถึงอุปนิสัยของลูกสาวผม ผมบอกให้ลูกสาวปิดสถาบันสอนเทนนิส แต่เธอปฏิเสธ
ราธิกาได้เปิดสถาบันสอนเทนนิสในคุรุคราม หลังจากอาการบาดเจ็บทำให้เส้นทางการเป็นนักเทนนิสอาชีพต้องหยุดชะงัก ตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า ความเป็นอิสระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของราธิกา จากการบริหารสถาบัน การมีตัวตนบนโซเชียลมีเดีย และการปรากฏตัวในมิวสิกวิดีโอ อาจเป็นสาเหตุให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวตึงเครียดได้ เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นโศกนาฏกรรมส่วนบุคคล แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของ ภาพสะท้อนค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมอินเดีย
ระบบชายเป็นใหญ่ที่ฝังลึกในสังคมอินเดีย
อินเดีย เป็นสังคมชายเป็นใหญ่มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ผู้ชายมีอำนาจหลักทั้งในสังคมและภายในครอบครัว พวกเขามักถูกมองว่าเป็น "ผู้ชายของบ้าน" หรือ "ผู้หาเลี้ยงครอบครัว" ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกมีสิทธิ์เหนือสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้อินเดียยังยึดถือระบบสืบสายตระกูลบิดา ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์จะถูกส่งต่อผ่านทางสายผู้ชายจากรุ่นสู่รุ่น
งานวิจัยของ Uma Chakravarti ได้นำเสนอกรอบแนวคิดเรื่อง "ปิตาธิปไตยพราหมณ์" ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างทางสังคมที่อิงวรรณะในอินเดียได้เสริมสร้างบทบาททางเพศ และคงไว้ซึ่งการกดขี่สตรีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ จนฝังรากลึกในโครงสร้างสังคมอินเดีย มีอิทธิพลต่อทุกสิ่งตั้งแต่พิธีกรรมทางศาสนาไปจนถึงการบริหารงานของรัฐ

ปัญหาความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในอินเดีย
แม้ในปัจจุบันสถานะของผู้หญิงในอินเดียจะมีการพัฒนาขึ้น แต่พวกเขายังคงเผชิญกับความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ฝังลึก และถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับผู้หญิง โดยมูลนิธิ Thomson Reuters เมื่อปี 2561 เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความรุนแรงทางเพศและถูกบังคับให้เป็นแรงงานทาส
- ความรุนแรงและการล่วงละเมิด
ความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาที่แพร่หลายและเรื้อรัง ผู้หญิงจำนวนมากต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงทั้งทางกาย ทางเพศ และทางอารมณ์จากคู่ครองหรือสมาชิกในครอบครัว
ในขณะเดียวกัน คดีข่มขืน มีอัตราสูงมาก ข้อมูลจาก NCRB ปี 2565 มีการจดทะเบียนคดีข่มขืน 31,516 คดี ในอินเดีย หรือเฉลี่ย 86 คดี/วัน และที่น่าตกใจ คือ 30,454 คดี หรือร้อยละ 96.6 ทำโดยบุคคลที่ผู้เสียหายรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน เพื่อนบ้าน หรือบุคคลอื่น
การแต่งงานในวัยเด็ก เป็นประเพณีเก่าแก่ในอินเดีย โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งมีอัตราการแต่งงานในวัยเด็กสูงกว่าในเมืองถึง 3 เท่า ความยากจนและธรรมเนียมการจ่ายสินสอดเป็นสาเหตุโดยตรงของปัญหานี้ เนื่องจากผู้หญิงถูกมองว่าเป็นภาระและเป็นผู้ที่จะไม่สร้างผลตอบแทน การแต่งงานในวัยเด็กนำมาซึ่งผลกระทบที่น่ากังวลหลายประการ เช่น การข่มขืนในชีวิตสมรส การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตของมารดาและการแท้งบุตรในหญิงวัยรุ่น และ ความรุนแรงในครอบครัว โดยเด็กหญิงที่แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี มีแนวโน้มที่จะถูกสามีทุบ ตี ตบ หรือคุกคามทางเพศมากกว่าเด็กหญิงที่แต่งงานในวัยผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า
- การเลือกปฏิบัติด้านเพศและความลำเอียงต่อบุตรชาย
การละเลยเด็กผู้หญิง ประมาณ 239,000 คน ในอินเดียเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ขวบในแต่ละปี เนื่องจากความละเลยที่เชื่อมโยงกับการเลือกปฏิบัติด้านเพศ รวมถึงทารกหญิง เนื่องจากความนิยมบุตรชายในสังคมอินเดีย การขาดการดูแลสุขภาพ โภชนาการ และการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับเด็กหญิงก็เป็นส่วนสำคัญของการละเลยอันนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมา
อัตราส่วนเพศที่ผิดเพี้ยน ระหว่างปี 2534-2544 อัตราส่วนหญิงชายของประชากรอินเดีย ลดลงจาก 94.5 คนต่อ 100 คนชาย เหลือ 92.7 คนต่อ 100 คนชาย นี่คือหลักฐานของความไม่เท่าเทียมกันในการเกิด และบ่งชี้ว่าการทำแท้งเลือกเพศมีการแพร่หลายมากขึ้น รัฐสภาอินเดียได้ห้ามการใช้เทคนิคการกำหนดเพศสำหรับทารกในครรภ์ แต่การบังคับใช้กฎหมายนี้ยังคงถูกละเลยส่วนใหญ่
ระบบสินสอดทองหมั้น ภาระและอาชญากรรมต่อสตรี ในวัฒนธรรมอินเดีย ฝ่ายครอบครัวเจ้าสาวเป็นผู้มอบสินสอดให้แก่เจ้าบ่าวและครอบครัวของเขา เพื่อเป็นเงื่อนไขในการแต่งงาน แม้ว่าในเวลาต่อมา ในปี 2504 เรื่องสิดสอดจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ฝ่ายเจ้าบ่าวและครอบครัวก็ยังคงคาดหวังว่า ครอบครัวเจ้าสาวต้องมอบสินสอดราคาแพง แลกกับการให้ผู้ชายแต่งเจ้าสาวเข้าบ้าน
ผลการศึกษาชี้ว่า แม้ผิดกฎหมาย แต่ร้อยละ 90 ของการสมรสในอินเดียยังคงเกี่ยวข้องกับสินสอด ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ครอบครัวฝ่ายหญิงมักต้องกู้เงินหรือขายทรัพย์สินเพื่อจ่ายสินสอด แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าเจ้าสาวจะมีชีวิตคู่ที่มีความสุข ข้อมูลระบุว่ามีเจ้าสาวถึง 35,493 คนถูกฆาตกรรมในอินเดียในช่วงปี 2560-2565 หรือเฉลี่ย 20 คน/วัน เพียงเพราะสินสอดไม่มากพอ

เรียบเรียง : ศศิมาภรณ์ สุขประสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์
แหล่งข้อมูล :
The Independent , Gender Study , Reuters , Swayam , Humanist Mutual Aid Network , Wikipedia , BBC
อ่านข่าวเพิ่ม :
ย้ำชัดไม่มีดีล "สหรัฐฯ" ตั้งฐานทัพพังงา บทเรียนไล่ "จีไอ" ไม่อยากให้มีภาค 2
"สมุนไพร" ภูมิปัญญาไทย สนค. แนะดันเป็น Soft Power รุกตลาดโลก
แท็กที่เกี่ยวข้อง: