รำไทยบำบัดพาร์กินสัน

สังคม
30 ก.ย. 59
07:48
1,107
Logo Thai PBS
รำไทยบำบัดพาร์กินสัน
โรคยอดนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุ รองจากอัลไซเมอร์ คือ โรคพาร์กินสัน และอาการของคนเป็นพาร์กินสันมีผลอย่างมากต่อชีวิตประจำวัน เพราะทำให้ขยับร่างกายลำบากมากขึ้น นอกจากการรักษาของแพทย์จะพาไปดูวิธีกายภาพบำบัด ฟื้นฟูร่างกายของผู้ที่ป่วยเป็นพาร์กินสันผ่านการการรำไทย

มือสั่น แขนขาสั่นรัว เดินลากเท้า ตัวแข็ง ก้าวได้สั้นๆ จนแทบทรงตัวไม่ได้ คืออาการของโรคพาร์กินสันหรือโรคความผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

อาเล็ก ใจเย็นดี วัย 56 ปี ผู้ป่วยพาร์กินสัน เคยท้อใจจากอาการป่วยพาร์กินสัน ซึ่งเป็นชนิดเดินขาลาก อาการเดินเหมือนคนอายุ 70-80 ปี แต่หลังเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ร่วมกับกายภาพบำบัด ด้วยการรำไทยเพียง 8 ครั้ง อาการก็ดีขึ้น ทำให้รู้หลักในการเดิน กล้ามเนื้อดีขึ้น

การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยท่ารำขั้นพื้นฐานถูกประยุกต์เข้ากับเสียงเพลง เป็นท่ากายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ข้อดีคือ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหว และฟื้นฟูทักษะควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆของผู้ป่วย แต่เพื่อให้ได้ผลดีแพทย์แนะนำให้ทำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน ควบคู่กับการรับยาฟื้นสภาพเซลล์สมองจากแพทย์

สุรสา โค้งประเสริฐ นักกายภาพบำบัด-อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ท่ารำไทยมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับความบกพร่องของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวในลักษณะใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ การพลิกหงายมือที่มีความแข้งเกร็ง แต่ด้วยท่ารำไทยทำให้มีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้่อตั้งแต่มัดใหญ่ กระทั่งมัดเล็กๆ มีการจีบ ปล่อย ไม่เหมือนการเคลื่อนไหวของการเต้นแบบต่างประเทศ ส่วนเพลงไทยก็มีลักษณะดนตรีประกอบกำหนดจังหวะ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นทางเสียงด้วย

แม้โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด วิธีการที่ดีที่สุดจึงจำเป็นความใส่ใจฟื้นฟูบำบัดร่างกายอย่างเหมาะสม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง