ค้านกฎหมายอุทยาน-สัตว์ป่าฉบับใหม่เปิดช่องนายทุนฮุบป่า

สิ่งแวดล้อม
31 ม.ค. 60
18:45
1,266
Logo Thai PBS
ค้านกฎหมายอุทยาน-สัตว์ป่าฉบับใหม่เปิดช่องนายทุนฮุบป่า
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ค้านมาตรา 52 พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่ เปิดช่องทำกินในป่า 20 ปี 20 ไร่่ ห่วงความเป็นธรรมกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์คนตามมติครม.30 มิ.ย.41 ด้าน ทส.จัด 3กลุ่มคนอยู่ในป่า ลั่นแก้ปัญหาจบ นำร่องคืนพื้นที่ 2 ล้านไร่

หลังจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.โดยเห็นชอบรายงานเรื่องการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ:มาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ….และร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ… และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน ทำให้นักอนุรักษ์กังวลถึงผลกระทบกับการเปิดช่องให้นายทุน และผู้มีอิทธิพลเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่า


“มูลนิธิสืบ” ค้านมาตรา 52 เปิดช่องทำกินเขตป่า 20 ปี 20 ไร่


วันนี้ (31 ม.ค.2560) น.ส.อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยทักท้วงตัวร่างการแก้ไขชุมชนในป่าอนุรักษ์ โดยมาตรา 52 ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ที่ระบุในบทเฉพาะกาลว่าให้อำนาจอธิบดีอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลอยู่อาศัยหรือทำกินไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัวและมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี มันอาจจะไม่เกิดความเป็นธรรม

โดยควรต้องมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามขั้นตอน ยึดหลักความเป็นจริง เพื่อไม่ให้เกิดการบุรุกป่าเพิ่ม ทั้งนี้ยอมรับว่าตอนนี้มีตัวเลขครัวเรือนที่อยู่ในป่าราว1 ล้านครัวเรือน และคิดเป็นพื้นที่เกือบ 6 ล้านไร่ การใช้หลักการที่เสนอในมาตรานี้ สงสยว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะขนาดกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติครม.30 มิ.ย.41 ผ่านมาถึง 20 ปียังแก้ไมได้


ขณะนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะออกจดหมานยถึงพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานสปท.เพื่อขอให้ทบทวนเนื้อหาทั้ง 2 ฉบับอีกครั้ง

 

 

รัฐมนตรีจัด 3 กลุ่มคนอยู่ในเขตป่าลั่นแก้จบ


พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส.บอกว่า ขณะนี้กระทรวงฯมีการแบ่งชุมชนในป่าอนุรักษ์แบ่งออกเป็น3 กลุ่มคือ ถ้าบุกรุกหลังปี 2557 ถือว่ามีเจตนาบุกรุก และจะดำเนินกฎหมายเข้มข้นในทุกกรณี ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีขึ้น 2 ฉบับ เพราะคงไม่ใช่ชาวบ้านที่เดือดร้อนหรือมีความจำเป็นในเรื่องที่ทำกิน แต่ตรงนี้มีจำนวนน้อยมากจากข้อมูลการตรวจ สอบของจิสด้า เฉลี่ยรายละ 20-30 ไร่


กลุ่มที่ 2.คนที่อยู่มาก่อนมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 และมีมติครม.ผ่อนผันให้อยู่ในพื้น ที่ป่า ซึ่งมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ จะต้องมีมาตรการรองรับมีพื้นที่กว่า 3 ล้านไร่ และกลุ่มที่ 3 คนที่อยู่หลังปี 2541-2557 อยู่มานานพอสมควรก็เข้าไปสำรวจ แสดงตัวตรวจสอบสถาน ภาพ ถ้าไม่ใช่ผู้ยากไร้เราจะพูดคุยให้คืนพื้นที่ แต่ถ้าไม่คืนดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉพาะเป็นผู้มีอิทธิพล และชาวบ้านที่ได้รับการผ่อนผัน แต่ใช้ที่ดินนอกกติกาก็ต้องดำเนินคดี และเจรจาพูดคุย

กรมอุทยานฯ เปิดตัวเลขเป้าหมายทวงคืนป่า 2 ล้านไร่


ด้าน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า ที่ผ่านมาแนว ทางแก้ปัญหาคนในเขตป่าอนุรักษ์ ดำเนินการมาหลายวิธีการก็ยังไม่ได้ผล ข้อเสนอของ สปท.ถ้าเสนอผ่านไปได้ แนวทางตรงนี้ก็อาจจะแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ขอยืนยัน ต้องรอให้ประกาศเป็น พ.ร.บ.ก่อน ซึ่งยังต้อง ผ่านความเห็นชอบจากครม.และต้องให้ กฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ก็อาจจะมีการพิจารณาในบางประเด็น และมีบางมาตราให้อำนาจอธิบดีดำเนินการในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านมติจากคณะกรรมการจัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของอุทยาน แล้วต้องดูความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องที่จะอนุมัติอนุญาตกันได้ง่ายๆ

 


ส่วนเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นายธัญญา กล่าวว่า ยังเน้นการรักษาป่าที่มีอยู่กว่า 102 ล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่ป่าตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้พ. ศ. 2557 ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ภายใน 10 ปี โดยกรมอุทยานฯ ทำข้อตกลงบันทึกคำรับรองการปฏิบัติงานการเพิ่มพื้นที่ป่าในเขตป่าในพื้นที่อนุรักษ์ กับผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 16 แห่ง รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อให้มีแนว ทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาพื้นที่ป่าที่ลดลง และเพิ่มพื้นที่ป่า โดยนายธัญญา กำชับเจ้าหน้าที่ให้ศึกษากฎหมายที่กำลังจะถูกบังคับใช้ ตามที่ สปท.เห็นชอบ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ถึงแนวทางปฏิบัติในอนาคต


นายธัญญา บอกว่า แนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่พื้นที่ตาม มติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย. 2541 จำนวน 660,640 ไร่ และพื้นที่เป้าหมายที่มีการบุกรุกเพิ่ง หลัง มติ ครม .30 มิ.ย. 2541 จำนวน 746,848 ไร่ รวมถึงพื้นที่ที่ตกสำรวจอีก 648,354 ไร่ จะต้องมีการใช้กฎหมายเข้ามาแก้ปัญหา เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า ที่เป็นที่ราบ และมีชุมชนอาศัยอยู่ จึงยังเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้


ส่วนพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าที่กรมอุทยานฯ ได้ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว 59 แห่ง มีพื้นที่ 23,142,359 ไร่ เตรียมประกาศเพิ่มอีก 1 แห่งมีพื้นที่ 150,990 ไร่ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าจำนวน 76 แห่ง มีพื้นที่ 3,934,386 ไร่ เตรียมประกาศเพิ่มอีก 10 แห่ง มีพื้นที่ 663,374 ไร่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง