"พุทธพาณิชย์" แหล่งรายได้-ค่าใช้จ่ายวัด

สังคม
4 มิ.ย. 61
19:34
2,727
Logo Thai PBS
"พุทธพาณิชย์" แหล่งรายได้-ค่าใช้จ่ายวัด
หลังการตีแผ่การทุจริตเงินทอนวัด เดือน มิ.ย. ปี 60 มหาเถรสมาคมจัดระเบียบพระผ่านการออกข้อบังคับ 9 ข้อ หนึ่งในนั้น คือ การห้ามภิกษุและคฤหัสถ์เรี่ยไร ตั้งแผงพระวัตถุมงคล โฆษณาอ้างอิทธิฤทธิ์ ซึ่งเชื่อมถึงนัยของ “พุทธพาณิชย์” ที่เฟื่องฟูในสังคมไทยในขณะนี้

 

 

หนึ่งในวัดที่ถูกกล่าวถึงวิธีบุญผ่านการบริจาค คือ วัดหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนนิยมไปทำบุญ เพราะมีช่องทางในการทำบุญหลายประเภท ทั้งการบูชาพระพุทธรูปในศาสนาพุทธ และเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

 

 

จุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากศาสนิกชน คือ การทำบุญเลี้ยงอาหารโค-กระบือ เมื่อผู้สื่อข่าวสังเกต จำนวนผู้ทำบุญในวันอาทิตย์ ที่ 3 มิ.ย. เวลา 13.30 -14.30 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พบผู้ทำบุญ ประมาณ 114 คน นับยอดบริจาคได้ประมาณ 6,330 บาท

 

 

จากการสำรวจจุดที่มีการตั้งตู้บริจาคทั่ววัด พบตู้บริจาค 36 จุด อาทิ จุดบูชาพระประจำวันเกิด , การจารึกชื่อบนฆ้อง , บูชาจตุคามรามเทพ – เทพฮก ลก ซิ่ว , และตู้ภายในพระอุโบสถ 13 ตู้ เป็นต้น

 

 

แต่ข้อสังเกตสำคัญ มีการขึ้นป้ายไว้ชัดเจน ว่า ผู้บริจาคต้องบริจาคเงินผ่านตู้ ห้ามเจ้าหน้าที่หรือพระสงฆ์รับเงินจากการบริจาค ส่วนรายได้จากเงินบริจาครายเดือน และรายปี ทางวัดขอสงวนข้อมูลเป็นความลับ แต่ยืนยันว่ามีการรายงานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาทุกปี

 

ขณะที่ วัดบัวขวัญ จ.นนทบุรี เป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นหมุดหมายของการทำบุญ ภายในวัดมีทั้งพระพุทธรูปของศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และมีการตั้งตู้บริจาคประจำจุดนมัสการพระพุทธรูปทุกจุด

 

 

ด้าน พระปริยัติคุณากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบัวขวัญ ยอมรับว่า เงินจากการบริจาค เป็นรายได้สำคัญที่ช่วยอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างภายในวัด และที่สำคัญ เป็นรายได้ในการดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ กว่า 200 รูป ภายในวัด

 

 

วัดบัวขวัญ นอกจากเป็นหมุดหมายของการทำบุญ ยังเป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ซี่งปัจจุบันมีพระสงฆ์ศึกษาอยู่ กว่า 150 รูป ดังนั้น เงินบริจาคจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการดูแลความเป็นอยู่ รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ในวัด

“เงินบริจาค” จึงเป็นวาระสำคัญในการปฏิรูปศาสนา ซึ่งเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เห็นชอบรูปแบบการจัดทำบัญชี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ โดยมีสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำวัน สมุดแยกรายรับ-รายจ่าย และสมุดรายงานงบประจำปี ซึ่งจะต้องรายงานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเพิ่มการบันทึกรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของวัด เพื่อแสดงสินทรัพย์ เช่น ที่ดิน และศาสนสมบัติ อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบทรัพย์สินของวัดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และป้องกันการทุนจริตที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยกรณี “เงินทอนวัด” ที่ตรวจสอบไม่เสร็จสิ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง