ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : โพแทชแอ่งสกลนคร

14 มิ.ย. 61
12:03
8,579
Logo Thai PBS
เปิดปม : โพแทชแอ่งสกลนคร
ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีความเห็นแตกต่างกัน จนเริ่มกลายเป็นขัดแย้ง เมื่อทรัพยากรใต้ดิน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร กำลังมีค่า จากแร่โพแทซ ทำให้มีบริษัทเอกชนได้รับอาชญาบัตรขุดเจาะสำรวจ ส่งผลต่อน้ำและแหล่งอาหารยั่งยืน

การคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทชในภาคอีสานของประเทศไทย เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ที่เคยมีการฟ้องร้องศาลปกครอง จนมีคำสั่งให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี พิจารณาคำขอประทานบัตรของบริษัทเอกชนใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ไล่มาถึง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่บริษัทเอกชนผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษกำลังเร่งสำรวจอยู่ทุกวันนี้ ท่ามกลางความกังวลว่าหากพื้นที่ อ.วานรนิวาส มีปริมาณแร่โพแทชคุ้มค่าเพียงพอต่อการเปิดเหมือง ผลที่ตามมาหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร และใครคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง

ชาววานรนิวาสคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทช

ชาววานรนิวาสคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทช

ชาววานรนิวาสคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทช

ทำไมต้องสกลนคร?

แหล่งแร่โพแทช อ.วานรนิวาส เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งสกลนคร ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แหล่งแร่โพแทชที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยร่วมกับแอ่งโคราช คาดการณ์ว่าปริมาณแร่โพแทชจากแหล่งแร่ทั้งสองอาจสูงถึง 4 แสนล้านตัน

หากอ้างอิงราคาแร่โพแทชจาก ก.พ.ร.ที่ประกาศไว้ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค.60 ว่าราคาเมตริกตันละ 9,720 บาท มูลค่าแร่โพแทชจากทั้งสองแอ่งอาจสูงกว่า 3.8 พันล้านล้านบาท (3,800,000,000,000,000 บาท) ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสาเหตุที่ทั้งสองแอ่งนี้มีแร่โพแทชปริมาณมหาศาลเพราะว่าอดีตเคยเป็นทะเลมาก่อน

"แอ่งสกลนคร" มีพื้นที่ 56,600 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1 ใน 4 ของภาคอีสานทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร บางส่วนของแอ่งสกลนครยังพาดผ่านแม่น้ำโขงเข้าไปในแขวงเวียงจันทน์และแขวงคำม่วน ประเทศลาว

ข้อมูลจากกรมธรณีวิทยาและการเหมืองแร่ของประเทศลาวระบุว่า ทั้งสองแขวงมีปริมาณแร่โพแทชรวมกันกว่า 4.5 แสนล้านตัน ปัจจุบันประเทศลาวมีการทำเหมืองแร่โพแทชแล้วตั้งแต่ปี 2550 เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทจากประเทศจีนเข้าไปลงทุน

ส่วนที่ จ.สกลนคร เคยมีการสำรวจแร่มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงปี 2519-2520 โดยเอกสารของกรมทรัพยากรธรณีเปิดเผยว่า เคยเจาะสำรวจ 4 หลุมที่ อ.สว่างแดนดิน อ.พรรณานิคม และ อ.วานรนิวาส ที่วัดป่าอัมพวันและวัดโนนวิเวกศรีเมือง การสำรวจเมื่อราว 40 ปีก่อน ทำให้คาดการณ์ว่าปริมาณทรัพยากรแร่สำรองมีศักยภาพของแร่โพแทชใน จ.สกลนคร อาจสูงถึง 1.1 แสนล้านตัน (113,224,420,000 ตัน) รวมมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านล้านบาท (1,100,000,000,000,000 บาท) ที่สำคัญคือพบแร่ซิลไวต์ซึ่งเป็นแร่โพแทชที่มีคุณภาพสูงที่สุดปริมาณ 4.4 ล้านล้านตัน (4,481,480,000,000 ตัน)

แร่โพแทชที่ได้จากการสำรวจ ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

แร่โพแทชที่ได้จากการสำรวจ ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

แร่โพแทชที่ได้จากการสำรวจ ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

หลังสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชที่มีศักยภาพใน อ.วานรนิวาส ราว 20 ปี วันที่ 2-5 เม.ย.40 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางไปเยือนประเทศจีนพร้อมชักชวนรัฐบาลจีนให้เข้ามาลงทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชในแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และเทคนิค เมื่อวันที่ 2 เม.ย.40

ต่อมา พ.ย.40 รัฐบาลจีนส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจำนวน 13 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน มาสำรวจแร่โพแทชและศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยในประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลจีนยืนยันว่าต้องการพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร

บจก.ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย)

บจก.ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย)

บจก.ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย)

7 ปีต่อมาในปี 2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชจำนวน 12 แปลง พื้นที่ 120,000 ไร่ ต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับอนุญาตในปี 2558 บริษัทใช้เวลาเตรียมการ 1 ปี ก่อนเริ่มต้นเจาะสำรวจในปี 2559

จะเห็นได้ว่าการสำรวจพบแร่ใน อ.วานรนิวาส ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีการสำรวจและวางแผนมานานกว่า 40 ปีแล้ว

ชาววานรนิวาสกังวลอะไร?

นายพสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงพื้นที่สำรวจทรัพยากรใน อ.วานรนิวาส พบว่าแหล่งน้ำในพื้นที่มีลักษณะเชื่อมต่อกัน เมื่อฝนตกน้ำจะเริ่มขังในพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็กที่ชาวบ้านเรียกว่า “บะ” ก่อนไหลลงสู่ร่องน้ำเล็กๆ ซึ่งภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ฮอม” น้ำจาก “ฮอม” หลาย ๆ สายจะรวมกันเป็นห้วย

นายพสุธา  โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สกลนคร

นายพสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สกลนคร

นายพสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สกลนคร

อ.วานรนิวาส มีแหล่งน้ำสำคัญคือห้วยโทงที่ใช้ผลิตน้ำประปาส่งไปยังหมู่บ้านต่างๆภายในอำเภอ น้ำจากห้วยโทงยังไหลลงสู่แม่น้ำยามก่อนลงสู่แม่น้ำสงครามซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

ในช่วงหน้าแล้ง “บะ” ยังเป็นแหล่งรวมของพืชสมุนไพรที่ขึ้นในช่วงนั้น ส่วน “ฮอม” ก็สามารถพบปลาหลากหลายชนิดได้เช่นกัน ที่สำคัญทรัพยากรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

ร่องน้ำเล็กๆ (ฮอม) หลายๆ สายไหลรวมกันเป็นห้วย

ร่องน้ำเล็กๆ (ฮอม) หลายๆ สายไหลรวมกันเป็นห้วย

ร่องน้ำเล็กๆ (ฮอม) หลายๆ สายไหลรวมกันเป็นห้วย

สิ่งที่ชาววานรนิวาสกังวลว่าจะเกิดขึ้นหากมีการทำเหมืองในพื้นที่คือ ภูเขาเกลือ เพราะตามธรรมชาติแร่โพแทชมักเกิดขึ้นพร้อมกับหินเกลือ เมื่อนำแร่โพแทชขึ้นมาจากใต้พื้นดินจึงต้องนำเกลือขึ้นมาด้วย หินเกลือจากการทำเหมืองจะถูกกองไว้บนดินจนกว่าจะทำเหมืองเสร็จจึงค่อยนำกลับลงไปใต้พื้นดินอีกครั้ง ชาวบ้านมองว่าหากกองเกลือถูกจัดเก็บอย่างไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ หรือแม้เก็บดีแล้วแต่หากเกิดอุทกภัยขึ้นในพื้นที่กองเกลืออาจถูกน้ำพัดพาและกระจายตัวปนเปื้อนเข้าสู่ธรรมชาติได้

แผ่นดินทรุดเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่กังวลว่าจะเกิดขึ้นหากมีการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ เนื่องจากการทำเหมืองแร่โพแทชส่วนใหญ่เป็นการทำเหมืองแบบปิด ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลงไปใต้พื้นดินจนเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่ เมื่อมีโพรงใต้ดินย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินยุบ ดังที่ชาวบ้านเคยได้ยินมาจากตำนานเล่าขานของท้าวผาแดงกับนางไอ่ อันเป็นต้นกำเนิดของหนองหารกุมภวาปีในปัจจุบัน

หลุมยุบ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร

หลุมยุบ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร

หลุมยุบ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร

นอกจากนิทานปรัมปราแล้วชาวบ้านยังเห็นแผ่นดินยุบจาก อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ซึ่งมีการทำนาเกลือสินเธาว์เป็นบริเวณกว้าง โดยการสูบน้ำบาดาลซึ่งมีหินเกลือละลายอยู่ มาใส่ในแปลงนา การทำนาเกลือลักษณะนี้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดโพรงใต้ดิน จนเป็นต้นเหตุของหลุมขนาดใหญ่จำนวนมากที่นั่น

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าถ้าทำเหมืองแร่โพแทชแล้วจะไม่เกิดหลุมยุบแบบนี้

สมบูรณ์ ดวงพรมยาว ตัวแทนชาวบ้านแสดงความกังวล

คำตอบจากบริษัท

ทีมข่าวเปิดปมนำข้อกังวลของชาววานรนิวาสไปสอบถาม นายธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย) จำกัด โดยเริ่มจากเรื่องภูเขาเกลือ ได้คำตอบว่า “ก่อนจัดเก็บหินเกลือที่ได้จากการทำเหมืองจะมีการป้องกันไม่ให้เกิดการชะล้างเข้าสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ต้องทำตามอยู่แล้ว”

ส่วนกรณีหลุมยุบนั้นตัวแทนบริษัทให้คำตอบว่า การทำนาเกลือกับการทำเหมืองแร่โพแทชไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะมีวิธีทำที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับความลึกที่เหมืองแร่โพแทชจะอยู่ในระดับความลึกลงไปมากกว่าการทำนาเกลือ

นายธัญญพัฒน์  หวังวงศ์สิริ  ผจก.ฝ่ายประชาสัมพันธ์  บจก.ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย)

นายธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ ผจก.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บจก.ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย)

นายธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ ผจก.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บจก.ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ในการขุดแต่ละช่วง จะมีการทำเสาค้ำยันเป็นระยะป้องกันการถล่ม ขนาดของเสาจะขึ้นอยู่กับการสำรวจลักษณะของชั้นหินว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้หลังการทำเหมืองกองเกลือที่เคยถูกนำมาไว้บนพื้นดินจะถูกนำกลับลงสู่ใต้ดินอีกครั้งเพื่อป้องกันการทรุดตัวที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

ตัวแทนบริษัทกล่าวเสริมถึงประโยชน์ของแร่โพแทชว่าเป็นส่วนผสมสำคัญของปุ๋ยซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วย 3 ธาตุหลักคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอร์รัสและโพแทสเซียม

ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่โพแทชที่ดีเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่กลับยังต้องนำเข้าแร่ชนิดนี้เพื่อมาผลิตปุ๋ย เพราะยังไม่เคยมีเหมืองแร่โพแทชเป็นของตัวเอง การทำเหมืองจึงเป็นทั้งการสร้างรายได้จากการส่งออกและลดรายจ่ายการนำเข้าไปพร้อมๆกัน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชใน อ.วานรนิวาส ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชัน (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงเหลือถึงม.ค.63 โดยทางบริษัทมีแผนจะเดินหน้าเจาะสำรวจให้เสร็จก่อนอาชญาบัตรพิเศษสิ้นอายุ หากพบว่าพื้นที่ อ.วานรนิวาส มีศักยภาพในการทำเหมืองแร่จึงจะดำเนินการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง