ยอดสมัคร ส.ส.วันแรกพุ่ง 5,831 คน ทุบสถิติปี 2554

การเมือง
5 ก.พ. 62
14:52
523
Logo Thai PBS
ยอดสมัคร ส.ส.วันแรกพุ่ง  5,831 คน ทุบสถิติปี 2554
ผู้สมัคร ส.ส. วันแรก จาก 58 พรรคการเมือง มีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 5,831 คน ทำลายสถิติจำนวนผู้สมัคร ส.ส.มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยมา หลังการว่างเว้นจากสนามเลือกตั้งมานานเกือบ 8 ปี

วานนี้ (4 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์ 5,831 คน จาก 58 พรรคการเมือง ในการรับสมัครวันแรก  นับว่าเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีการเลือกตั้งมา ล่าสุด พรรคที่ส่งผู้สมัครมากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ อีกหลายพรรคประกาศส่งผู้สมัครเต็มอัตรา คือพลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย และรวมพลังประชาชาติไทย ขณะที่เพื่อไทยส่ง 250 เขต ขาดไป 100 เขต ส่วนไทยรักษาชาติส่ง 150 เขต มี 60 เขตที่ทับซ้อนระหว่างมีผู้สมัครไทยรักษาชาติและเพื่อไทย

ขณะที่ข้อมูลจาก กกต.สรุปผลการรับสมัคร ส.ส. ผู้สมัครแบบแบ่งเขต โดยผู้สมัครทั่วประเทศมากที่สุด ปี 2550 มี 3,899 คน ส่วนผู้สมัครทั่วประเทศน้อยที่สุด ปี 2500 มี 699 คน

ในปีนี้เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครมากที่สุดในวันแรก คือ เขต 9 จ.ขอนแก่น มีผู้สมัคร 27 คน จาก 27 พรรคการเมือง ส่วนพรรคที่ส่งผู้สมัครทั่วประเทศมากที่สุดในวันแรกของการเลือกตั้ง ปี 2562 ได้แก่

  • พรรคประชาธิปัตย์  341 คน
  • พรรคพลังประชารัฐ 335 คน
  • พรรคเสรีรวมไทย 333 คน
  • พรรคอนาคตใหม่ 330 คน
  • พรรคภูมิใจไทย 325 คน

วางขุมกำลังสนามเลือกตั้งทั่วไทย

สมรภูมิใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร หลายพรรคตบเท้าส่งผู้สมัคร ครบทั้ง 30 เขต ขณะที่เพื่อไทย และไทยรักษาชาติ ลงชิงด้วยสูตร 22+8 คือ พรรคเพื่อไทยส่งเพียง 22 เขต และเว้นอีก 8 เขตไว้ให้พรรคไทยรักษาชาติ

ส่วนสนามเลือกตั้ง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสนามใหญ่อันดับสองรองจากกรุงเทพมหานคร มีจำนวน ส.ส. 14 เขต มากที่สุดในภาคอีสาน เป็นการแข่งขันระหว่าง 4 พรรคใหญ่ คือ เพื่อไทย ชาติพัฒนา ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ พรรคชาติพัฒนา ซึ่งมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา มั่นใจว่าจะสามารถรักษาที่นั่ง ส.ส.ของพรรคไว้ได้


ภาคอีสานที่พรรคเพื่อไทยเคยชนะยกจังหวัดในหลายพื้นที่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แต่สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ ถูกคาดการณ์ว่า บางจังหวัดอาจไม่สามารถรักษาที่นั่ง ส.ส.ไว้ได้ เพราะต้องชนกับพลังประชารัฐ ซึ่งผู้สมัครจำนวนหนึ่ง ก็คือ อดีต ส.ส.เพื่อไทยที่ย้ายสังกัด


ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี ฐานที่มั่นของพรรคชาติไทยพัฒนา กลายเป็นศึกชนช้างระหว่าง อดีต ส.ส.ชาติพัฒนาอย่าง จองชัย เที่ยงธรรม ที่ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ต้องจับตาว่ากัญจนา ศิลปอาชา จะกวาด 4 เขตสุพรรณบุรีได้ทั้งจังหวัดอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่


ส่วนพื้นที่ภาคใต้ แม้ประชาธิปัตย์จะประกาศกวาดที่นั่งทั้ง 50 เขต แต่ก็น่าหวั่นใจโดยเฉพาะ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการย้ายพรรคของผู้สมัครหลายคน และมีการจัดตั้งพรรคใหม่ จึงคาดว่า จะเป็นการชิงชัยระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย รวมไปถึงพรรคหน้าใหม่อย่าง พรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศส่ง ส.ส. ลงครบทุกเขตในพื้นที่ภาคใต้ แต่ละพรรคชูนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบสันติวิธี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง