แจกโฉนดที่ดินฉบับชุมชนบ้านหลวง

สิ่งแวดล้อม
7 ก.พ. 62
14:07
1,581
Logo Thai PBS
แจกโฉนดที่ดินฉบับชุมชนบ้านหลวง
เปิดโมเดลการจัดการที่ดินบ้านหลวง จ.เชียงใหม่ โดยชุมชนลุกขึ้นมาจับมือท้องถิ่น-อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จัดทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน แจกโฉนดดิจิทัล ออกกฎเหล็ก 6 ข้อกำหนดขอบเขตห้ามขายเปลี่ยนมือ ตั้งเป้าลดการบุกรุก คุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน

วันนี้ (7 ก.พ.2562) ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การมีส่วนร่วมของชุมชน และแนวทางแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ในเขตอุทยาน จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ

นายกอซิ เพชรไพรพณาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการแก้ปัญหาที่ดิน ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติดอยอินนทนนท์กว่า 221,000 ไร่ ทับที่ดินพื้นที่ทำกินของชาวบ้านปกาเกอะญอ จนเกิดความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี

ชาวบ้านถูกดำเนินคดี เพราะการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.2541 ยังไม่สำเร็จ เพราะการตรวจสอบขอบเขตที่ดินทำจากหน่วยงานรัฐ ไม่มีชุมชนหรือชาวบ้านเข้าไปร่วมในกระบวนการพิสูจน์

กระทั่งในปี 2558 ชุมชนมองหาทางออกร่วมกันใหม่ถือเป็นการระเบิดจากข้างใน โดยร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เพื่อลดปัญหาขัดแย้ง โดยทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน และทำเทศบัญญัติท้องถิ่นจัดการทรัพยากร ขณะนี้สำรวจที่ดินใน 19 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ 6,000 ไร่ โดยแล้วเสร็จ 4,000 ไร่ มอบกับชาวบ้านแล้ว 3,000 ไร่ เฉลี่ยสูงสุด 20-25 ไร่ ตรวจสอบทุกเดือนผ่านทางดาวเทียม


ทั้งนี้ มีเป้าหมายการบุกรุกต้องเป็นศูนย์ และมีการมอบให้คณะทำงานเทศบัญญัติท้องถิ่น ต้องมีการลงพื้นที่สำรวจทุกแปลง และทำขอบเขตส่วนใดเป็นป่าต้องขอคืนกลับจากชาวบ้านในพื้นที่สูงชันเกิน และให้เฉพาะที่ทำกินเท่านั้น

กฎเหล็ก 6 ข้อห้ามฝืนถูกริบคืน

นายกอซิ กล่าวว่า ในทะเบียนโฉนดที่มอบให้ชาวบ้านจะมีผังแปลงที่ดิน จำนวนพื้นที่ ผู้ครอบครองว่าเป็นใคร และมีการรับรองโดยเทศมนตรี ผู้ใหญ่ และคณะกรรมการลุ่มน้ำรับรอง อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าที่ดินทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริงมีทั้งทำเกษตร ฟาร์มดอกไม้ สตรอว์เบอรี่ และมีโฮมสเตย์ แต่ทุกครอบครัวต้องไม่ละเมิดกฎข้อห้าม 6 ข้อ

มีข้อห้าม 6 ข้อในทุกใบทะเบียนประวัติโดยเฉพาะห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือหรือให้เช่าแก่บุคคลอื่นโดยเด็ดขาด ถ้าฝ่าฝืนจะถูกยึดคืนเป็นของชุมชน นอกจากนี้ ห้ามขยายพื้นที่ออกไปจากขอบเขตที่ระบุไว้ในทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน รวมทั้งให้ที่ดินตกทอดเป็นมรดกของลูกหลาน รวมทั้งกรณีการเช่าที่ดินภายในเครือข่ายตำบลบ้านหลวงให้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำและกรรมการสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน


ด้าน นายไตรวิทย์  แซ่ยะ อดีตผู้ใหญ่บ้านหลวง กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องแก้ไขและจัดทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน เนื่องจากระบบการบริหารมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย แต่กว่า 10 ปีก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ชาวบ้านมีสิทธิทำกิน เป็นปัญหาที่หน่วยงานต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งและหน่วยงานเองต้องทำตามระเบียบกฎหมายของตัวเอง

ระยะเวลา 10 ปีที่เสนอไปยังคณะกรรมาธิการ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิทำกินในที่ดินของตนเองได้ แต่พบว่าไม่สำเร็จ จึงหารือกันว่าต้องทำร่วมกับท้องถิ่น จัดทำทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน ซึ่งผู้ครอบครองสืบทอดให้กับลูกหลานได้ ไม่สามารถซื้อขายหรือนำไปจำนองได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง