วันที่ 7 พ.ค.2562 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนหนึ่งของเวทีเสวนาหัวข้อ "ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ปัญหา" ว่า ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลัง 7 ปี พบ 51 ครั้ง มากสุดเป็นทะเลาะวิวาท รองลงมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สิน ล่าสุดช่วง 4 เดือนของปีนี้เกิดเหตุแล้ว 11 ครั้ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขวางมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ระยะสั้น โดยให้ทุกโรงพยาบาลติดกล้องวงจรปิด จำกัดบุคคลเข้าห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในภาวะมึนเมา ยกเว้นแต่ผู้ป่วย รวมทั้งกำหนดเวลาทำงานที่เหมาะสมให้กับบุคลากร เพิ่มวงเงินประกันให้เจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินกรณีได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และมอบหมายให้กรมบริการสุขภาพทำแผนปรับปรุงมาตรฐานห้องฉุกเฉิน
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย
ประสานกองแบบแผนฯ ออกแบบห้องฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน โดยเริ่มจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป
ขณะที่นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักอัยการสูงสุด ระบุว่า ต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมว่าพื้นที่โรงพยาบาล ห้องฉุกเฉิน เป็นพื้นที่สงวนห้ามบุคคลไม่เกี่ยวข้องเข้าไป หากเจ้าหน้าที่ห้ามปรามแล้วยังฝ่าฝืนกระทำความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน ถือว่าร้ายแรง อุกอาจ ท้าทายกฎหมาย เข้าข่ายคดีอาญายอมความไม่ได้ มีโทษจำคุก 3-15 ปี และหากทรัพย์สินของโรงพยาบาลเสียหายสามารถฟ้องแพ่งได้
ด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สะท้อนว่า ความรุนแรงในห้องฉุกเฉินมักเกิดจากเหตุทะเลาะวิวาทกันมาก่อนนอกโรงพยาบาล โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัย ช่วงอายุที่ก่อเหตุอยู่ที่ 15-35 ปี จึงต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมแจ้งเหตุวิวาท สร้างความเข้าใจว่าพื้นที่โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รู้สึกหวาดกลัวและหวาดระแวง กระทบต่อขวัญกำลังใจอย่างมาก