ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครั้งแรกในไทย พบยา “ไดคลาซีแพม” ใช้ผิดฤทธิ์แรงถึงตาย

สังคม
8 พ.ค. 62
18:25
52,120
Logo Thai PBS
ครั้งแรกในไทย พบยา “ไดคลาซีแพม” ใช้ผิดฤทธิ์แรงถึงตาย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบ "ไดคลาซีแพม" ครั้งแรกในไทย ซึ่งเป็นยาคลายเครียดในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีน มีฤทธิ์รุนแรงและยังไม่มีการควบคุมทางกฎหมาย จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ชนิดใหม่ โดยในต่างประเทศมีรายงานการนำไปใช้ในทางที่ผิดและมีผู้เสียชีวิตด้วยยาชนิดนี้จำนวนมาก

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับยาของกลางจำนวน 99,850 เม็ด จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบนสีฟ้า ด้านหนึ่งมีตัวอักษร "D A N" และตัวเลข "5 6 2 0" อยู่บนแต่ละข้างของขีดแบ่งครึ่งเม็ด อีกด้านหนึ่งมีตัวเลข "10" ซึ่งจับกุมได้ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และส่งตรวจพิสูจน์โดยสงสัยว่าเป็นยาไดอาซีแพม (Diazepam) ที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559

 

การตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการ ไม่พบไดอาซีแพม แต่ตรวจพบ "ไดคลาซีแพม" (Diclazepam) ที่ยังไม่มีการควบคุมทางกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งจากรายงานในต่างประเทศพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและเสียชีวิตด้วยยาชนิดนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะในทวีปยุโรป

จากข้อมูลการตรวจพบไดคลาซีแพมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดแล้วในประเทศไทย ยาชนิดนี้ไม่มีการนำมาใช้ทางการแพทย์ แต่มีแนวโน้มการนำมาใช้ในทางที่ผิดสูง

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ไดคลาซีแพม เป็นยาคลายเครียดในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีน เช่นเดียวกับไดอาซีแพม ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายไดอาซีแพม แต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าประมาณ 10 เท่า สังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2503 แต่ไม่ได้มีการนำมาใช้เป็นยาทางการแพทย์ และไม่มีข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยในมนุษย์ เนื่องจากพบว่าเสพติดได้ง่าย แม้ใช้ในขนาดปกติ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกันอีก 3 ชนิด ก่อนขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ซึ่งสามารถตรวจพบได้นานถึง 10 วันหลังการใช้ จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ชนิดใหม่ที่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและแพร่ระบาดมากในต่างประเทศ โดยมักลักลอบขายทางอินเทอร์เน็ต

 

การใช้ยาติดต่อกันในขนาดที่สูงจะทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาเกินขนาดได้ง่าย พบรายงานการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจำนวนมาก ในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, สวีเดน, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ไดคลาซีแพม ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ เช่น ออกซิโคโดน มอร์ฟีนและเฮโรอีน หรือใช้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางเช่นเดียวกัน มีผลให้ปริมาณไดคลาซีแพมในร่างกายสูงเกินขนาด ทำให้หายใจลำบาก โคม่าและเสียชีวิตในที่สุด

นพ.โอภาส กล่าวทิ้งท้ายว่า ไดคลาซีแพม ยังไม่ได้มีการควบคุมทางกฎหมายโดยสหประชาชาติ รวมทั้งในประเทศไทย ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเสนอข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อใช้ในการพิจารณาควบคุมทางกฎหมาย เฝ้าระวังการแพร่ระบาด และสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง