ครั้งแรก! "หอยเม่นหมวกกันน็อค" โผล่เกาะสิมิลัน

สิ่งแวดล้อม
13 พ.ย. 62
13:59
2,665
Logo Thai PBS
ครั้งแรก! "หอยเม่นหมวกกันน็อค" โผล่เกาะสิมิลัน
ข่าวดี! เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เจอ "หอยเม่นหมวกกันน็อค" บริเวณเกาะบางู เป็นครั้งแรก ถือเป็นสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานการพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2547

วันนี้ (13 พ.ย.2562) เฟซบุ๊ก "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park" โพสต์ข้อความเปิดเผยถึงการค้นพบ "หอยเม่นหมวกกันน็อค" สัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นครั้งแรกของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันกับการค้นพบหอยดังกล่าว

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.2 (เกาะสิมิลัน) ได้ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพและสำรวจพบหอยเม่นหมวกกันน็อค ประมาณ 50 ตัว บริเวณเกาะบางู ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทยและเป็นการค้นพบสัตว์ชนิดนี้เป็นครั้งแรกของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

 

หอยเม่นหมวกกันน็อค (Helmet Urchins) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Colobocentrotus atratus หรือบางทีรู้จักกันในชื่อ หอยเม่นกระเบื้องมุงหลังคา (shingle urchin) ซึ่งรูปลักษณะที่แตกต่างจากหอยเม่นทั่วไปคือ เนื้อตัวที่เกลี้ยงเกลาดุจมุงด้วยกระเบื้อง ไร้ซึ่งหนามแหลมแม้แต่อันเดียว สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าหอยเม่นหมวกกันน็อคมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่อาศัย เนื่องจากถิ่นที่อยู่ของพวกมันมีคลื่นลมรุนแรง ทำให้มีนักล่าน้อยที่จะเข้าถึงตัวพวกมันได้ ประกอบกับการที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคลื่นลมรุนแรง หนามแหลมเป็นอุปสรรค เนื่องจากมันจะต้านคลื่นอาจทำให้พวกมันถูกซัดหลุดจากโขดหินที่อยู่อาศัย และเมื่อไม่มีผู้ล่า หนามแหลมที่ใช้ป้องกันตัวจึงหมดความจำเป็น

 

นายสุธีรชัย สมทา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ให้ข้อมูลว่า จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยพบว่าได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบแรงยึดเกาะของเม่นหมวกกันน็อค Santos & Flammang (2007) โดยพบว่า เม่นหมวกกันน็อคสามารถต้านทานแรงปะทะคลื่นได้ตั้งแต่ความเร็ว 17.5 เมตรต่อวินาที ไปจนถึง 27.5 เมตรต่อวินาที ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพความเร็ว 27.5 เมตรต่อวินาที คือเป็นแรงที่สามารถถอนต้นไม้ได้ทั้งต้น

 

หอยเม่นหมวกกันน็อค พบได้ทั่วไปตามโขดหินตามชายหาดที่มีคลื่นซัดถึง ในแถบ Indo-West Pacific และฮาวาย แต่ในประเทศไทยมีรายงานการพบหอยเม่นชนิดนี้น้อยมาก โดยรายงานการพบครั้งแรกในปี 2530 โดย ดร.สมชัย บุศราวิช จากโครงการ First PMBC/DANIDA Training course and workshop on taxonomy, biology and ecology of echinoderms และมีรายงานการพบครั้งล่าสุดในปี 2547 โดย ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ในรายงาน Putchakarn.S and Sonchaeng.P (2004). Echinoderm Fauna of Thailand: History and Inventory Reviews. ScienceAsia 30 (2004): 417-428

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง