"รัชดา" ประเดิมย่านธุรกิจ ลดขยะ - ก๊าซเรือนกระจก

สิ่งแวดล้อม
21 พ.ย. 62
18:20
1,051
Logo Thai PBS
"รัชดา" ประเดิมย่านธุรกิจ ลดขยะ - ก๊าซเรือนกระจก
ภาคธุรกิจเอกชน จับมือ 30 องค์กรย่านรัชดาฯ เดินหน้าโครงการ "Care the Whale : ขยะล่องหน" ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้าน "กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" เล็งดันมาตรการส่งเสริมทางภาษี สร้างแรงจูงใจภาคเอกชนตั้งต้นธุรกิจหมุนเวียน

วันนี้ (21 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรธุรกิจ สำนักงาน และศูนย์การค้า ย่านรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ จับมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลดภาวะโลกร้อน สร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากต้นทาง ผ่านโครงการ  Care the Whale : "ขยะล่องหน"

 

วิกฤตสิ่งแวดล้อม ต้นทางอย่างภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตัวแทนโครงการฯ ระบุว่า ในย่านรัชดามีประชากรอาศัยอยู่ราว 30,000 คน ประกอบกับมีห้างร้าน อาคารสำนักงานจำนวนมาก การเจริญเติบโตในเมือง จึงมีส่วนส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศ ไม่สามารถกลับคืนสู่จุดสมดุลดังเดิม ส่งผลให้ไทยเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โครงการนี้ จึงชักชวนให้ภาคธุรกิจบนถนนรัชดา ร่วมแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น ด้วยการบันทึกมาตรการ ทบทวน คำนวณ ประมวลผล การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดขยะต้นทาง สร้างเส้นทางเดินของขยะ ให้ขยะล่องหนได้จริง เพราะทำให้ทุกสิ่งยังใช้ต่อได้ ร่วมเรียนรู้และสร้างย่านแห่งความร่วมมือ

โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ Care the Whale : "ขยะล่องหน" มีทั้งสิ้น 14 อาคาร และพันธมิตร 30 องค์กร เช่น ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม สำนักงาน ที่จะต้องระบุแนวทางในการลดขยะ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน อาทิ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก บริการอาหารแต่พอดี คัดแยกขยะ หมุนเวียนพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

"วน" ทางเลือกลดถุงพลาสติกอย่างยั่งยืน

อีกปัญหาที่ย่านธุรกิจต้องเจอ คือขยะจากถุงพลาสติก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน จัดโครงการ “วน” เพื่อลดขยะพลาสติกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยใช้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ โดยจะรับบริจาคพลาสติกชนิดอ่อน ถุง และฟิล์มพลาสติกที่ใช้แล้ว เช่น ถุงน้ำแข็ง ฟิล์มหุ้มขวดน้ำ ถุงขนมปัง ถุงหูหิ้ว ซึ่งปกติพลาสติกเหล่านี้ จะถูกทิ้งเป็นขยะทั่วไป นำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและนำไปผลิตเป็น "ถุงวน" ซึ่งจะมีความหนามากกว่าถุงพลาสติกทั่วไป สามารถใช้ซ้ำได้ 8-10 ครั้ง เมื่อขาดหรือเก่า ก็นำกลับมารีไซเคิลได้อีก เป็นการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดขยะพลาสติกที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อมและ ลดปริมาณขยะทั่วไปที่เข้าสู่ระบบกำจัด

 


ทส.เล็งมาตรการภาษี กระตุ้นเอกชนเริ่มธุรกิจหมุนเวียน


ด้านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ระบุว่า เป็นเรื่องดีที่ภาคเอกชน ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะไปพร้อมกับรัฐบาล ซึ่งประเด็นสำคัญในเวลานี้ คือ มาตรการส่งเสริมทางภาษี เพื่อให้กำลังใจผู้ผลิตที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังไปพิจารณาระเบียบ ศึกษาจากตัวอย่างที่มีการสนับสนุนในภาคการไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งบริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมก็ควรจะได้สิทธินั้นเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สวทช.เปิดตัว "ถุงพลาสติกสลายตัวได้" ประเดิม "กาชาดสีเขียว"

"ชาวเกาะหลีเป๊ะ" วอนใช้กลไกอาเซียนแก้ปัญหาขยะทะเล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง