วันนี้ (25 พ.ย.2562) ศาสตราจารย์พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ พบว่า ผู้มีงานทำลดลง ร้อยละ 2.1 ซึ่งภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลง ร้อยละ 1.8 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตร ลดลงร้อยละ 2.3 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก
สาขาที่จ้างงานลดลง ได้แก่ การผลิต ขายส่ง-ขายปลีก ก่อสร้าง แต่สาขาที่จ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงแรม-ภัตตาคาร ขนส่ง-เก็บสินค้า เนื่องจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่ ร้อยละ 1.04 หรือมีจำนวน 394,000 คน

แม้การจ้างงานลดลง แต่โดยเฉลี่ยแรงงานยังมีชั่วโมงทำงานใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของสถานประกอบการ ที่บางส่วนปรับการจ้างแรงงานที่มีผลิตภาพและชั่วโมงทำงานต่ำก่อน ทำให้โดยเฉลี่ยชั่วโมงทำงานยังทรงตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มการจ้างงานในไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฎผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก โดยดูจากภาวะการมีงานในเดือน ต.ค.2562 อัตราการว่างงานยังอยู่ระดับต่ำ ร้อยละ 0.9 คิดเป็น 355,000 คน
ยังมีสัญญาณของผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามต่อไป เช่น ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 มี 172,000 คน ประกอบกับคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศปรับตัวลดลงและการทำงานล่วงเวลาลดลง เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องติดตามสถานการณ์เลิกจ้างอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด จัดหางานให้แรงงาน รวมถึงหามาตรการเพิ่ม-ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน ให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ได้