วันนี้ (15 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหลืออีกเพียงไม่ถึง 1 เดือน ก็จะครบปี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศให้ฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 และวันที่ 12 ต.ค.ปีเดียวกัน ได้คลอดแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน เน้นการปฏิบัติงานเชิงรุก 3 ด้าน คือการสร้างกลไกการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ รายจังหวัด กลุ่มจังหวัด, การจัดการกับต้นกำเนิดฝุ่น PM2.5 เช่น จากการจราจร รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในภาคการเกษตร เป็นต้น และต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ ส่วนอีกเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก คือควรใช้เกณฑ์ไหนในการแจ้งเตือนฝุ่นของไทย หรือองค์การอนามัยโลก

ตัวอย่างงบหมอกควัน-ฝุ่น
ทั้งนี้ หากจะทำตามนี้ ก็ต้องไปว่าแต่ละหน่วยงานว่าจะทำอะไร ตั้งงบประมาณไว้แค่ไหน ยกตัวอย่าง งบประมาณปี 2563 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหมอกควันและฝุ่น PM2.5 แม่งาน คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 22 ล้านบาทเศษ พบว่ามี 2 แผน เป็นการแก้ไขหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 8 ล้านบาท และกรมควบคุมมลพิษ จะแก้ปัญหาฝุ่น ก็รวมเรื่องเสียงเข้าไปด้วย ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท แต่ไม่ได้เจาะจงชัดเจน
งบฯ รายจังหวัดไม่ชัดเจน
แหล่งกำเนิดใหญ่อย่างภาคอุตสาหกรรม 37 ล้านบาท ว่าด้วยเรื่องการเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เมื่อก่อนเวลาเกิดภัยพิบัติจะเบิกงบภัยพิบัติ แต่ตอนนี้มี มาตรา 28 ที่จัดสรรงบรายจังหวัด โดยเฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือ ไม่ใช่แค่ชื่อโครงการไม่ชัด แต่ตัวชี้วัดบางโครงการเป็น PM10 ทั้งที่เป็นการจัดการกับ PM2.5 เช่น จ.แพร่

บูรณาการแก้ปัญหาฝุ่น
สำหรับการแก้ปัญหาฝุ่นทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยหลายหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน ดังนั้น จึงมีงบฯ บูรณาการ ซึ่งเมื่อวันประชุมสภา ถูกวิจารณ์ว่าบูรณาการจริงหรือไม่ แต่ละหน่วยงานทำงานสอดคล้องกันเป็นเนื้อเดียวกันได้หรือไม่ แต่มีงบประมาณรออยู่ไม่น้อย 84 ล้านบาท แต่วันที่อภิปรายคือคืนวันที่ 10 ม.ค. ก็เลยไม่ได้ลงรายละเอียดกันสักเท่าไหร่
ทภ.3 ไม่แจกแจงการใช้งบ
หลายคนคงจะรู้อยู่แล้วว่ากองทัพมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือตอนบน ซึ่งปรากฏข่าวว่ากองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ใช้งบฯ ตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพป้องกันประเทศ ในการซักซ้อมดับไฟป่าและลาดตระเวนป้องกันสถานการณ์ ซึ่งในงบประมาณปี 2563 มีอยู่ 121 ล้านบาท แต่ไม่ได้ระบุว่าจะใช้งบฯ ไปกับอะไรบ้าง

ทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาฝุ่น
อย่างไรก็ตาม ข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่าง ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งได้ว่า หลายหน่วยงานอาจจะมีงบฯ ซ่อนอยู่ แต่ที่อยากจะเน้น คือต้องไม่ลืมว่าหลักคิด คือการทำงานเชิงรุก ป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าทำงานได้ผล นอกจากการทำงานเผชิญเหตุแล้ว การจัดการกับต้นกำเนิดฝุ่น และการทำงานร่วมกัน การตัดสินใจทางการเมืองที่ต้องเป็นตัวกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม จะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือสุดท้ายงบประมาณถูกใช้ไป แต่สุดท้ายฝุ่นก็ยังซ้ำซาก
แท็กที่เกี่ยวข้อง: