วันนี้ (23 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการเคอร์ฟิวว่า ตัวเลขของวันที่ 22 เม.ย.ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ของวันนี้ มีการออกนอกเคหสถาน ดำเนินคดี 617 คนมีการชุมนุมมั่วสุม 51 คน ถือว่าเพิ่มขึ้น
จากการสอบถามในที่ประชุม ศบค.ว่าทำไมจำนวนผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวถึงเพิ่มขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าเนื่องจากมีการลดด่านตรวจลง เนื่องจากด่านอยู่ในถนนที่สัญจรไปมา แต่คนที่กระทำผิดไม่ได้อยู่ที่บนถนน แต่จะอยู่ในชุมชน และที่บ้าน เป็นการไปเล่นพนัน การดื่มสุรา ยาเสพติด
การลดด่านบนถนน แต่เพิ่มสายตรวจในชุมชนแทน ซึ่งผู้ที่ช่วยแจ้งเบาะแสที่ดีที่สุดคือเพื่อนบ้านทั้งหลายที่เป็นห่วงเป็นใย มีการแจ้งเบาะแสเพิ่มมากขึ้นที่ 191 หรือ 1599

ยอดคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิวพุ่ง 16,179 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิวในรายภาค โดยภาคกลาง อันดับ 1 ได้แก่ ราชบุรี มีผู้ออกนอกเคหสถาน 23 คน กทม.ออกนอกเคหสถาน 43 คน ชุมนุมมั่วสุม 14 คน ภาคใต้ อันดับ 1 ได้แก่ ภูเก็ต ออกนอกเคหสถาน 55 คน ส่วน ภาคเหนือ เชียงใหม่ ออกนอกเคหสถาน 14 คน ชุมนุมมั่วสุม 6 คน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ออกนอกเคหสถาน 10 คน
สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิวสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต 55 คน กทม. 48 คนปทุมธานี 23 คน ราชบุรี 22 คน ระยอง 20 คน นครศรีธรรมราช 19 คน กาญจนบุรี 17 คน สงขลา 16 คน สมุทรปราการกระบี่ และยะลา 15 คน และ เชียงใหม่ 14 คน ส่วน 10 จังหวัดที่ไม่มีผู้ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว ได้แก่ นครนายก อุบลราชธานี นครพนม และสกลนคร

ยอดรวมของผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว ตั้งแต่วันแรก 3 เม.ย.-23 เม.ย. มีการออกนอกเคหสถาน 16,179 คน ตักเตือน 2,983 คน ดำเนินคดี 13,196 คน ส่วนการชุมนุมมั่วสุม 1,835 คน ตักเตือน 105 คน ดำเนินคดี 1,730 คน
โฆษกศบค.กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนเห็นว่าการประกาศเคอร์ฟิว เพื่อให้อยู่ที่บ้าน ลดการชุมนุม และการเจอกัน เพราะเป้าหมายของการที่จะต้องมีเคอร์ฟิวคือลดโรค ป้องกันโรค และควบคุมโรค ไม่ได้ต้องการให้เกิดปัญหาที่จะต้องดำเนินคดี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.เล็งเสนอครม.ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุม COVID-19
แท็กที่เกี่ยวข้อง: