วันนี้ (6 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 1 ปี 10 เดือน ในตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ยอมรับว่า ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทั้งในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฯ และผู้อำนวยการ ระยะเวลารวม 5 ปี ไม่คาดคิดว่าจะได้มาอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งในเวลานั้น ไม่ได้ดีใจกับตำแหน่ง เพราะรู้สึกว่าสูงเกินเอื้อม แต่ภูมิใจ เพราะเมื่อได้รับมอบหมายทำงานในตำแหน่งนี้แม้จะเหนื่อย และดีใจที่ได้รับโอกาสในการเข้ามาปฏิบัติภารกิจด้านคมนาคม
รู้สึกเป็นสิ่งที่วิเศษในชีวิต สนุก และท้าทาย รวมถึงมีคุณค่ากับชีวิตที่ได้เรียนรู้ว่าประเทศไทยต้องการอะไรจากกระทรวงคมนาคมได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
ตั้งแต่ทำงานที่ สนข.จนมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ทำให้ได้รู้รายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะการจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 รวม 111 โครงการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระทรวงฯ และถือเป็นเรื่องที่ภูมิใจ และตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เพราะถ้าทำสำเร็จทุกโครงการ ประเทศไทยจะอยู่ได้สบายๆ 50 ปี เช่น โครงการรถไฟทางคู่, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี), รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) เป็นต้น ผนวกรวมไปถึงการบริหารงานอย่างต่อเนื่องของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย
นายชัยวัฒน์ ระบุว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาได้แกะปัญหาของกระทรวงคมนาคมหลายเรื่อง เช่น การยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน จนเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน รวมถึงการตัดสินใจให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ อีกทั้งยังภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นต้น
แต่อีกประมาณ 2 เดือนก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ต้องการจะแก้ไขปัญหาหรือปฏิบัติภารกิจของกระทรวงคมนาคมให้สำเร็จในหลายโครงการที่ยังคั่งค้างอยู่ เช่น การฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รวมถึงโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ที่จะต้องมาจัดทำรายละเอียดว่า วงเงินที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอเพิ่มวงเงิน 10,345 ล้านบาทที่กระจายอยู่ในทุกสัญญานั้น มีความจำเป็นหรือไม่ และแผนการเปิดให้บริการเป็นอย่างไร ก่อนที่จะไปชี้แจงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบต่อไป
นอกจากนี้ จะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี จะสร้างพร้อมกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือเชื่อมการเดินทางฝั่งตะวันออก-ตะวันตก ที่ได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาภายใน 2 เดือนก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการ ขณะเดียวกัน จะเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ที่ต้องดำเนินการต่อ เพราะถือเป็นระบบการคมนาคมที่ดีของอนาคต
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมานั้น ถือเป็นอีก 1 โครงการที่กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะคำตอบไม่ใช่แค่การลงทุนหลักแสนล้าน แต่สิ่งที่จะได้ คือ การเชื่อมกับประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจของโลก และส่งผลต่อประเทศอื่นๆ มากมาย มีความคุ้มค่าจากสิ่งที่ลงทุนกับอนาคตของประเทศไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย หากเราไม่สามารถเชื่อมต่อได้จะทำให้ตกขบวน และล้าหลังประเทศอื่นๆ
งานของกระทรวงคมนาคม คือ การทำงานสำหรับอนาคต สิ่งที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมลงทุนไปนั้น ไม่เพียงแค่ส่งผลภายในประเทศ แต่ยังเชื่อมโยงโลกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของระบบราง
ทั้งนี้ ภาพการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของไทยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ของประเทศ หลังจากที่มีการลงทุนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ