ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สบส.จ่อทบทวนหลังกาตาร์รักษาโรคแต่นำเข้าเชื้อ COVID-19

สังคม
24 ส.ค. 63
17:13
1,274
Logo Thai PBS
สบส.จ่อทบทวนหลังกาตาร์รักษาโรคแต่นำเข้าเชื้อ COVID-19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจงชาวกาตาร์ติด COVID-19 หลังเข้ารักษามะเร็งตับในไทย ผ่านการตรวจเชื้อก่อนเข้าแล้ว และกักตัวในโรงพยาบาล 100% เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อ ยืนยันมาตรการคุมเข้มตั้งแต่สนามบิน เตรียมทบทวนการเปิดประเทศ และมาตรฐานการตรวจแล็บ

วันนี้ (24 ส.ค.2563) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ชี้แจงกรณีชายชาวกาตาร์ อายุ 71 ปี เข้ามารักษาโรคมะเร็งตับในไทย แต่กลับตรวจพบเชื้อ COVID-19 ว่า ชาวกาตาร์คนนี้ตรวจแล็บหาเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ไม่พบเชื้อ จึงให้เข้าไทยได้ เมื่อตรวจซ้ำจึงพบติดเชื้อ แต่ขณะนี้ยังไม่แสดงอาการ ส่วนการตรวจเชื้อผู้ติดตามไม่พบเชื้อ ซึ่งการตรวจเชื้อที่ให้ผลแล็บแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตาม อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลภายใน Alternative Hospital Quarantine ซึ่งเป็นระบบปิด และขณะนี้กองระบาดวิทยาอยู่ระหว่างสอบสวนโรคเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ

จากกรณีนี้ สบส.อาจต้องทบทวนประเทศที่จะอนุญาตให้เข้ามารักษาโรคเรื้อรังในไทย จากเดิมที่เปิดให้ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งต้องดูเรื่องมาตรฐานการตรวจแล็บด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม พบชาวกาตาร์ติด COVID-19 เดินทางเข้าไทยรักษามะเร็งตับ

ทั้งนี้ ตามหลักการเปิดให้คนต่างชาติ เข้ามารับการรักษาโรคประจำตัว ที่ไม่ใช่การเข้ามารักษาโรคโควิด พร้อมผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 คน โดยต้องตรวจแล็บด้วยวิธี RT-PCR ใน 72 ชั่วโมง ไม่พบติดเชื้อถึงจะเข้าไทยได้ และเมื่อเข้ามาแล้วต้องตรวจแล็บอีก 3 ครั้ง มีหลักฐานทางการเงินแสดงความพร้อมจ่ายค่ารักษา มีกรมธรรม์ โดยทั้งหมดต้องกักตัวในโรงพยาบาลที่เข้ามารับการรักษาเป็นเวลา 14 วัน ถึงแม้จะรักษาโรคเรื้อรังนั้นเสร็จก่อนครบ 14 วัน แต่ก็ต้องอยู่โรงพยาบาล จนครบตามมาตรฐาน 14 วัน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541

ตั้งแต่เปิดให้เข้ามาช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีคนต่างชาติเข้ามาแล้ว 166 คน เป็นผู้ป่วย 90 คน ผู้ติดตาม 76 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน อาเซียน และอาหรับ โดยเข้ามารักษา โรคเรื้อรัง เบาหวาน มะเร็ง   กล้ามเนื้อ โรคข้อกระดูก  การมีบุตรยาก  และตอนนี้ยังมีคนที่ทำเรื่องขอเข้ามาอีก 673 คน แบ่งเป็น ผู้ป่วย 432 คน ผู้ติดตาม 250 คน โดยการเข้ามารักษาที่คลินิกนั้นจะต้องมีการจับคู่กับโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นสถานที่กักตัวในระยะเวลา 14 วันด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอธีระ" เบรกท่องเที่ยว 6 เดือน-ไทยยังเสี่ยง COVID-19

 

 

 


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง