(1 ก.ย.2563) กลุ่มผู้เสียหายตาบอด มาพร้อมกับ นางสาว กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท.และ บก.ปอศ. เพื่อเอาผิดบริษัททรูเฟรนด์ 2020 จำกัด หลังเปิดบริษัทช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ อ้างว่าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับขายตรง เพียงสมัครครั้งแรก 2,100 บาท ได้รับกาแฟ 8 กล่อง จากนั้นจะมีรายได้ทุกเดือน โดยไม่ต้องหาสมาชิกเพิ่มก็มีรายได้แต่ให้ซื้อสินค้าต่อเนื่อง แต่หากหาสมาชิกเพิ่ม ยิ่งมีรายได้มากขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีผู้สมัครทั้งชาวไทยและชาวลาว รวมเกือบ 50,000 รหัส นับเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ทางผู้เสียหายเคยไปแจ้งร้องทุกข์ที่ สคบ.เพื่อให้ตรวจสอบใบอนุญาต ซึ่งทางสคบ.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทแล้ว แต่ขณะนั้นทางกรรมการบริษัทไปอุปสมบท จากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตขายตรงเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งบริษัทยอมเสียค่าปรับย้อนหลัง ส่วนกาแฟมีสินค้าอยู่จริงสั่งผลิตจากโรงงาน ซึ่งทางสคบ.จะนัดเจรจากับบริษัทอีกครั้ง เมื่อวันที่ 29 ส.ค.63 เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับเงินคืน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
กลุ่มผู้เสียหายจึงรวบรวมเอกสารหลักฐานเอาผิดทางอาญากับบริษัท เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่จ่ายผลตอบแทนตามแผนการตลาดขายตรงตามที่ได้โฆษณาไว้ และเปิดทำการก่อนได้ใบอนุญาตจากทาง สคบ. อีกทั้งการเปิดบริษัทดังกล่าวได้เปิดช่วงวิกฤตCOVID-19 ทำให้ระหว่างนั้นประชาชนที่ว่างงาน ไม่มีรายได้ จึงนำเงินเยียวยาจากรัฐมาลงทุน เพื่อหวังให้มีรายได้ช่วงCOVID-19 แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับเงิน ยกเว้นกลุ่มแม่ทีมหรือแอดมิน

นางสาวกฤษอนงค์ กล่าวกับทีมข่าวรายการสถานีประชาชนว่า เรื่องนี้เป็นการระดมทุน โดยมีตัวอย่างบริษัทที่กระทำในลักษณะนี้มามากมาย หลังพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนมาก จึงนัดหมายผู้เสียหายหลายจังหวัดเข้าแจ้งความตามท้องที่ เช่นที่ จ.ระยอง มีผู้เสียหายกว่า 100 คน จ.ขอนแก่น กว่า 600 คน ต่างได้สมัครเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับบริษัทขายตรงที่อ้างว่ามีกาแฟและคอลลาเจนเป็นสินค้า ค่าสมัครคนละ 2,000 ค่าส่งสินค้า 100 บาท มีประชาชนสมัครเกือบ 50,000 รหัส
ทั้งนี้อยากให้เจ้าหน้าตำรวจ ตรวจสอบบริษัทดังกล่าว พร้อมเส้นทางการเงิน เพราะต่างตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากมีสมาชิกสมัคร รวมเป็นเงินจำนวนมาก แต่ทำไมบริษัทบอกว่าขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้ทางบริษัทเคยชี้แจงในรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอสว่า ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม จะมีผู้ร่วมทุนคนใหม่มาลงทุน 12 ล้านบาท เป็นการเพิ่มสภาพคล่องและจะเปิดดำเนินการต่อ ยืนยันเป็นธุรกิจขายตรงที่ถูกต้อง

ขณะที่นายสุริยา นารี ผู้เสียหายพิการทางสายตาให้ข้อมูลว่า หลังจากมีเพื่อนมาชักชวน และทราบว่ามีโฆษณาทางออนไลน์ จุดที่สนใจคือลงทุน 2,100 บาท เดือนต่อไปจะมีรายได้เดือนละ1,700บาท ไม่ต้องหาสมาชิกเพิ่ม บริษัทอ้างว่ามีระบบอัตโนมัติ นำคนมาต่อให้ นายสุริยาจึงสมัครไป 5 รหัส เป็นเงิน10,500บาท แต่ที่ผ่านมาได้เพียงกาแฟ 8 กล่องเท่านั้น/ แต่การออกมาเตือนในครั้งนี้ เพราะปัจจุบันบริษัทเปิดให้ซื้อหุ้น จึงไม่อยากให้ประชาชนตกเป็นผู้เสียหายเพิ่มอีก
การแจ้งความในครั้งนี้ ผู้เสียหายรวมตัวกันจำนวนกว่า 400 รหัส ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวและแม่ข่ายหรือแอดมิน ในฐานความผิดเบื้องต้นดังนี้
1. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระท าความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เนื่องจากมีการกระทำผิดโดยการโฆษณาชักชวนในช่องทางต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียล
2. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4 เนื่องจากมีการชักชวนระดมทุนจากประชาชนให้ลงทุนโดยการันตีว่าจะได้รับเงินปันผลมากกว่ากฎหมายก าหนด
3. ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

แท็กที่เกี่ยวข้อง: