ข้ามอคติทางเพศ "กะเทย" สวย-หล่อ บนเวทีประกวดดาวเดือน

สังคม
8 ก.ย. 63
18:15
3,626
Logo Thai PBS
ข้ามอคติทางเพศ "กะเทย" สวย-หล่อ บนเวทีประกวดดาวเดือน
สวย-หล่อ ชวนตั้งคำถามถึงคุณค่าความเป็น ชาย-หญิง ผ่านเวทีดาวเดือนและการก้าวข้ามมายาคติทางเพศ เพื่อนิยามคุณค่าความเป็นมนุษย์ในมิติใหม่ผ่านมุม "บัซซี่ ศิวกรณ์" LGBT ผู้คว้ามง ดาว มธ.ปี 61 และการผลักดันเวทีดาวเดือนแบบใหม่ทีให้ค่าความเป็นคนมากกว่ารูปลักษณ์

การประกวดดาว-เดือน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยโดยที่หลายคนไม่รู้ตัว แต่ช่วงที่ผ่านมากลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้นึกถึงความจำเป็นในการจัดการประกวดว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ หลายมหาวิทยาลัยเริ่มตั้งคำถามออกมาผ่านแบบสำรวจออนไลน์ให้นิสิตและนักศึกษาได้ร่วมออกความเห็น

อย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้ออกมาประกาศยกเลิกการประกวดดาว-เดือน ปี 2563 โดยพบว่านิสิตส่วนมากแสดงความคิดเห็นว่า

  • การประกวดดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตส่วนมาก
  • แต่เป็นการให้ผลประโยชน์แก่คนเฉพาะกลุ่มมากเกินไป 
  • รวมถึงเป็นการส่งเสริมค่านิยมในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าที่ควรจะเป็น

เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็อยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นต่อกิจกรรมราตรีมอดินแดง (ดาว-เดือน มข.) ปี 2563 เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมประกวดดาว-เดือน มข.ด้วย

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่หลายคณะต่างสำรวจความคิดเห็นถึงการยกเลิกประกวดดาว-เดือนมหาวิทยาลัย แต่ "ศิวกรณ์ ทัศนศร" หรือ "บัซซี่" ดาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2561 จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ และสมาชิกองค์การนักศึกษา ดาวมหาวิทยาลัย LGBT คนแรกคนนี้ กลับเห็นว่าการประกวดดาว-เดือนมหาวิทยาลัยควรไปต่อ แต่ระบบเก่าๆ ที่ล้มเหลวควรพอแค่นี้

ดาว-เดือน เวทีประกวดความสวย - หล่อ?

เราต้องตั้งคำถามว่า สวย หล่อคืออะไร เพราะส่วนตัวยังบอกไม่ได้ว่าตัวเองสวยหรือหล่อ ดังนั้น ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าความสวย หล่อคืออะไร ถ้าเป็นพิมพ์นิยมแบบเดิม ค่านิยมเดิมๆ ก็ขอให้ตัดไป


"บัซซี่" พูดคุยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงกระแสสังคมในตอนนี้ที่กำลังมาแรง พร้อมยอมรับว่าเห็นด้วยกับการยกเลิกประกวดดาวเดือน เพราะหากมองว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงอย่างเดียวก็เท่ากับการสิ้นเปลืองทรัพยากรไปอย่างเสียเปล่า สุดท้ายสิ่งที่ได้กลับมาคือการสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ และผลิตสังคมขยะออกมา 

เราก็เห็นด้วย ถามว่าเหลื่อมล้ำจริงไหม ขนาดเราได้รับตำแหน่งดาวมหาวิทยาลัย ผู้หญิงก็ยังถูกทรีตดีกว่า ได้ไปออกงานสวยๆ งามๆ แต่เราได้ไปแค่งานที่ใช้สมองอย่างเดียวซึ่งมันเป็นความไม่เท่าเทียม
ภาพ : buzzyarisa

ภาพ : buzzyarisa


การเกิดกระแสนี้ขึ้นมาถือเป็นการเคลื่อนไหว (movement) ที่ดี เพราะรู้สึกว่าหลายๆ มหาวิทยาลัยตระหนักว่าการประกวดดาวเดือนนั้นสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของความสวยและความหล่อ ที่สื่อประกอบสร้างให้มองว่า "สวยไม่มีสมอง หล่อไม่มีสมอง" ที่สำคัญคือ ความสวยหล่อ มันไม่ได้มีคำจำกัดความ แต่ละคนอาจสวยคนละแบบ หล่อคนละแบบ การได้ดาวเดือนมาไม่ได้หมายความว่า คนนี้สวยที่สุดหรือหล่อที่สุด หรือฉลาดที่สุด

บัซซี่ ย้ำว่า การประกวดดาว-เดือน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คนที่เข้ามาประกวดก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน ดังนั้น จะดูถูกคนที่เข้ามาประกวดไม่ได้ เพราะปัญหาจริงๆ อยู่ที่ระบบ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหานี้ควรเริ่มต้นที่ระบบ "เรามองว่าปัญหามันอยู่ที่ระบบ ดังนั้น เราควรมองหาทางที่ดีกว่า สิ่งที่เราทำได้คือการล้างระบบและจัดหามันขึ้นมาใหม่" ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน และสร้างคนที่จะเข้ามาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ เพื่อให้การประกวดดาว-เดือน เป็นเวทีที่ยั่งยืนกว่า

ถ้าการประกวดจะเลือกผู้ชนะจากความสวยความงาม ตัวดาวหรือเดือนก็ไม่ผิด แต่ระบบต่างหากที่ผิด เพราะระบบเป็นตัวกำหนดความเหลื่อมล้ำ และสร้างปัญหา


บัซซี่  ระบุว่า ถึงแม้มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเริ่มออกแถลงการณ์ยกเลิกการประกวดดาวเดือนแล้ว แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังต้องการที่จะทำต่อ แต่เปลี่ยนจากประกวดความสวยงาม เป็นการประกวดเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น โดยเริ่มปรับตั้งแต่การเวิร์กชอปดาว-เดือนให้มีทักษะทั้งด้านวิชาการและความเป็นผู้นำสังคม เหมือนการติดอาวุธทางปัญญาเพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมประกวดในเวทีนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสังคมได้ 

ทลายกำแพงเพศ ดาวต้องเป็นหญิง เดือนต้องเป็นชาย

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบแบบเดิมๆ มีมาตั้งแต่การประกวดในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่จะส่งผู้หญิงประกวดเดือน ส่งผู้ชายประกวดดาว เพื่อทลายกำแพงเพศสภาพทางความคิดที่สังคมสร้างขึ้น ซึ่งคณะได้ส่งสลับกันแบบนี้มาตลอด เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ต่อมาตำแหน่งดาวก็เริ่มเป็น LGBT ส่วนเดือนก็เป็นทอม ส่วนตัวที่เข้าร่วมประกวดเพราะต้องการหาเพื่อนและพัฒนาตัวเอง เพราะคิดว่าการเป็นดาวมหาวิทยาลัยอย่างน้อยก็เป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนได้ ถ้าเราเข้าสู่โครงสร้างเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเท่านั้น

ภาพ : buzzyarisa

ภาพ : buzzyarisa

ภาพ : buzzyarisa


ความเบื่อหน่ายกับอะไรเดิมๆ ทั้งค่านิยมและพฤติกรรม คือ แรงบันดาลใจให้บัซซี่ลุกขึ้นมาประกวดดาว-เดือน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบเก่าๆ ที่เคยได้รับตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมฯ ที่ในช่วงเวลานั้นคำว่า LGBT ยังไม่เคยได้ยินผ่านหู แต่คำว่ากะเทยหรือตุ๊ดกลับได้ยินทั้งวัน ท่ามกลางสื่อที่นำเสนอภาพ "กะเทย = ต้องเฟี๊ยส ปากจัด วี๊ดว้าย บ้าผู้ชาย และเป็นคนแรงๆ" ทั้งที่ความจริงกะเทยหรือตุ๊ดก็แค่คนๆ หนึ่งที่เหมือนกับผู้ชายและผู้หญิง 

ความจริงแล้วกะเทยหรือตุ๊ดไม่ได้แสดงออกมากมายแบบที่สังคมตีตรา เราก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง การที่เขามองเราแบบนั้น มันเป็นค่านิยม ซึ่งเราไปปรับทัศนคติเขาไม่ได้ ที่ทำได้คือ รวมกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา เพื่อค้านความคิดของเขาที่มันเอ้าต์ไปแล้ว

ตั้งแต่มัธยมฯ บัซซี่บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ทุ่มเทอย่างเต็มที่ทั้งการเรียนและกิจกรรม เพื่อให้ทุกคนเห็นว่ากะเทยก็เป็นเหมือนคนปกติ แต่จนถึงวันที่ได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน กลับมีครูมาบอกว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่งเพียงเพราะไม่ใช่ผู้ชายแมน 100% นานวันเข้าจึงเริ่มตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ในโรงเรียนมากขึ้น ทั้งการห้ามใส่กางเกงรัดรูป แต่งหน้าไปโรงเรียน หรือการเจาะหู

มาเรียนจะสวยไม่ได้เลย ดูดีไม่ได้เลย เป็นตัวของตัวเองไม่ได้เลย ทุกคนพูดแต่ว่าเมื่อเข้ามาต้องยอมรับกฎ แต่เราต้องถามกลับว่ากฎเหล่านี้มันทำให้มีอะไรดีขึ้นมา ไม่มีใครมองผลงานที่เราทำทุกอย่างเพื่อให้โรงเรียนดีขึ้น ตอนนั้นไม่มีผู้ใหญ่คนไหนเข้าใจเราเลย

ความพยายามในวันนั้น ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมทางความคิดแก่เพื่อนร่วมโรงเรียน ที่เริ่มพูดถึงกฎระเบียบของโรงเรียน ความไม่ยุติธรรม และกฎที่ไม่มีประโยชน์ต่อการเรียน เมื่อเรียนจบมัธยาฯ บัซซี่จึงเลือกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะคิดว่าเป็นพื้นที่เสรีภาพ แล้วตัดสินใจเข้าประกวดดาว-เดือน เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งผลของความตั้งใจก็ทำให้เห็นว่า LGBT ก็เป็นดาวมหาวิทยาลัยได้ และสะท้อนว่าเวทีนี้มีเสรีภาพจริงๆ จึงต้องการให้เวทีนี้ยังคงอยู่ แต่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบเดิมๆ เพื่อให้เวทีนี้สร้างคนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง 

ภาพ : buzzyarisa

ภาพ : buzzyarisa

ภาพ : buzzyarisa


ทั้งนี้ การประกวดดาว-เดือน Freshy Night ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเดิมโดยจะเป็นการประดวกเพื่อคัดเลือก 6 แกนนำ คณะผู้เปลี่ยนแปลงสังคม (TU Progressive Movement) ซึ่งแต่ละคณะสามารถส่งคนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเข้าร่วมได้โดยไม่จำกัดเพศ ก่อนจะจัดตั้งเป็นชมรมที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมในประเด็นต่างๆ เช่น สังคม การเมือง การศึกษา ฯลฯ และจะขับเคลื่อนทั้งประเด็นในมหาวิทยาลัย รวมถึงระดับประเทศ ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ โดยการประกวดคณะผู้เปลี่ยนแปลงสังคมจะมีขึ้นในเดือน ต.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง