มติ! ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.2 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจ
3 ก.พ. 64
14:28
5,138
Logo Thai PBS
มติ! ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.2 แสนล้านบาท
คณะกรรมการ ม.36 มีมติล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน1.2 แสนล้านบาท บอร์ดฯ ชี้คดีฟ้องร้องในศาลปกครองยังอืด การประมูลใหม่อาจจะเร็วกว่า

วันนี้ (3 ก.พ.2564) นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติยกเลิกการประกวดราคา (ประมูล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เนื่องจากมองว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทำให้ทุกคนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ที่สำคัญจะทำให้โครงการเดินต่อไปไม่สะดุด และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรายละเอียดต่างๆ รฟม.จะเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง

ส่วนหลักเกณฑ์การประมูลจะใช้เกณฑ์เดิม หรือเกณฑ์ใหม่ยังไม่ได้มองถึงขั้นนั้น ต้องรอ รฟม.พิจารณาก่อน แต่อยากเร่งรัดกระบวนการเปิดประมูลให้รวดเร็วอยู่แล้ว ขั้นตอนการประกวดราคา บอร์ดมาตรา 36 พิจารณาแล้วจะไม่ทำให้เกิดความล่าช้า  

นายกิตติกร โครงการฯ มีไทม์ไลน์แน่นอน อยากให้การดำเนินการโครงการภาครัฐไม่สะดุด ซึ่งพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อโครงการ อีกทั้งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการพิจารณาตัดสินของศาลปกครองได้ ทำให้ยังไม่มีแนวทางการประกวดราคา การยืนราคา ดังนั้นการเริ่มประมูลโครงการใหม่เป็นการกำหนดระยะเวลาที่ดีที่สุด

 

 

ทั้งนี้ รฟม.จะถอนฟ้องศาลปกครอง กรณียื่นอุทธรณ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ ต้องรอให้รฟม.พิจารณาก่อน ส่วนเอกชนมีสิทธิยื่นฟ้องหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะบอร์ดมีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกประมูลเท่านั้น หลังจากนี้จะมีกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนที่ถูกต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุน ว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า ทราบข่าวแล้ว และหลังจากนี้คาดว่า รฟม.จะมีการแจ้งเหตุผลของการยกเลิกการประมูลอีกครั้ง ทั้งนี้ในหนังสือที่ รฟม.ได้แจ้งสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกการประมูล ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะว่าจะมีการใส่ไว้ทุกโครงการ

ก่อนหน้านี้ที่บีทีเอส ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขณะนี้ได้ไต่สวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอศาลนัดฟังคำวินิจฉัย

รอจับตาหลังมติล้มประมูล

ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า เป็นความกล้าหาญชาญชัยมาก และไม่คิดว่าจะกล้าล้มประมูล แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประมูลเมกกะโปรเจ็กของไทย ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นโครงการใด ไม่มีการแยกซองเทคนิคและซองผลตอบแทน หลังจากนี้จะแยกซองข้อเสนอเอกชนจากคะแนนเทคนิค มองว่าไม่สมควร เพราะหากเสนอผลตอบแทนให้น้อย แต่ทำคะแนนเทคนิคให้ดี รัฐก็จะเสียผลประโยชน์ และผลตอบแทนให้น้อย หรืออีกทางคะแนนเทคนิคไม่ดี แต่ถ้าผลตอบแทนดี รฟม.ก็จะได้คนที่ไม่มีความสามารถทางเทคนิค หรือมีความสามารถน้อยในด้านเทคนิค ก็อาจจะมีปัญหาในการก่อสร้าง เรียกได้ว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

ส่วนการพิจารณาของศาลมองว่า เมื่อมีการล้มประมูลแล้วในการพิจารณาของศาลก็มีแนวโน้มที่จะไม่พิจารณาและอาจจะเป็นการจำหน่ายคดี แต่หากบีทีเอสเห็นว่า ได้รับความเสียหายก็สามารถร้องค่าเสียหายต่อศาลปกครองได้

ไทมไลน์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการหลังจากนี้ หลังจากนี้ รฟม.จะเร่งออกประกาศยกเลิกทันที เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลใหม่ทั้งหมด โดยการประมูลใหม่จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกชนจากคะแนนเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน อย่างไรก็ตามการล้มประมูลถือว่าสามารถทำได้ เพราะ รฟม. ได้แจ้งสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกการประมูลไว้ในเอกสารหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไว้อยู่แล้ว

ส่วนการพิจารณายกเลิกประมูลโครงการฯ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีจะทำให้ รฟม.ไม่ต้องลุ้นผลการพิจารณาคดีของศาลปกครอง รวมถึงไม่ต้องรอลุ้นว่าเมื่อศาลฯ ตัดสินแล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรจะติดปัญหาอะไรอีกหรือไม่ ส่วนข้อเสีย จะทำให้การเดินหน้าโครงการฯ ช้ากว่าแผนเดิม 6-9 เดือน

ก่อนหน้านี้ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รฟม.ได้เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ทั้งนี้ รฟม.ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.63 โดยในครั้งนั้นมีบริษัทยื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ 2 กลุ่ม (4 ราย) จากเอกชนที่ซื้อเอกสารข้อเสนอทั้งหมด 10 ราย โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มายื่นข้อเสนอเป็นรายแรก ตามด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์(BSR) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ทั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามความคาดหมายที่คาดการณ์กันว่า โครงการนี้จะเป็นการประมูลที่แข่งขันกันระหว่าง 2 ขั้วคือ BEM และ BTS

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง