เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2564 เมียนมาประกาศกฎอัยการศึกในเขตปกครองท้องถิ่น 7 เขต ในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ และมีกิจกรรมต้านรัฐประหารอย่างเข้มข้น ห้ามประชาชนชุมนุมกันเกิน 5 คน ห้ามการชุมนุมประท้วง พร้อมกันนี้มีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 - 04.00 น. การประกาศกฎอัยการศึกมีขึ้น หลังเกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมืองใหญ่ทั่วเมียนมาต่อเนื่องเป็นวันที่ 3
ผู้นำการรัฐประหารย้ำผ่านโทรทัศน์ว่าจะนำพาประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนสู่เมียนมา ขณะเดียวกันได้ร้องขอให้ประชาชนอย่าทำตามความรู้สึกของตัวเอง แต่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลัก
หากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ที่เป็นชนวนเหตุจนนำมาสู่คำสั่งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ในมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่เป็นอับดับ 2 ของเมียนมา มีพระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมประท้วงและเดินนำหน้าขบวน พร้อม ๆ กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ออกมาคัดค้านเผด็จการทหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ทันที
ขณะที่ อีกหลายในรัฐกะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐมอญ ก็มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
ประท้วงต้านรัฐประหารทั่วประเทศ
ขณะที่ การชุมนุมในกรุงเนปิดอว์ทำให้ตำรวจเมียนมาฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ฝูงชน เพื่อหวังสลายการชุมนุมของประชาชนหลายพันคน ที่ออกมารวมตัวประท้วงอยู่บริเวณไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ของนายพลออง ซาน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บไปจำนวหนึ่ง เนื่องจากถูกแรงดันของน้ำกระแทกเข้าใส่จนล้มลงกับพื้น ก่อนที่ตำรวจจะยุติการฉีดน้ำและมีผู้ประท้วงส่วนหนึ่งมอบดอกไม้ให้เพื่อเป็นการขอบคุณ
ขณะที่สถานการณ์ในนครย่างกุ้ง ยังมีประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันบริเวณด้านนอกของสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ เพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลทหาร
โดยการประท้วงเป็นวันที่ 3 มีพระสงฆ์เข้าร่วมเดินขบวนด้วย ท่ามกลางการให้กำลังใจของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ที่ร่วมบีบแตรส่งเสียงดังและชูสามนิ้ว เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพยาบาลอีกหลายสิบคนตัดสินใจหยุดงาน เพื่อร่วมประท้วงบริเวณด้านนอกมหาวิทยาลัยการพยาบาลย่างกุ้ง ในนครย่างกุ้ง เพื่อแสดงพลังต่อต้านระบอบทหาร และประกาศต่อสู้เพื่ออนาคตของตนเอง ซึ่งการหยุดงานประท้วงครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านวิธีอารยะขัดขืน
ยูเอ็นเตรียมหารือพิเศษกรณีวิกฤตเมียนมา
ขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประกาศจะจัดการประชุมพิเศษในวันศุกร์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา หลังจากอังกฤษและสหภาพยุโรปยื่นเรื่องขอให้พิจารณาจัดการประชุมดังกล่าวขึ้น 1 สัปดาห์ หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารและมีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศเกิดขึ้นติดต่อกันหลายวัน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชาวเมียนมา และสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติ หลังจากที่เมียนมาประกาศห้ามการออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล หรือเคอร์ฟิว รวมทั้งใช้กฎอัยการศึกเข้าควบคุมสถานการณ์ประท้วงในหลายพื้นที่