ผลกระทบเก็บภาษี แพลตฟอร์มต่างประเทศ (e-service)

เศรษฐกิจ
25 ก.พ. 64
12:50
1,776
Logo Thai PBS
ผลกระทบเก็บภาษี แพลตฟอร์มต่างประเทศ (e-service)
ไทยประกาศใช้กฎหมายบังคับจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการด้านต่างๆ เช่น ดาวน์โหลดภาพยนตร์ เพลง การจองที่พัก เพื่ออุดช่องว่างจากที่ไม่เคยถูกเก็บภาษีมาก่อน แม้จะมีผลกระทบตามมาในส่วนของผู้ใช้บริการ ต้นทุนของแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่ผลดีมีไม่น้อย

1 กันยายน 2564 นี้ กฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศจะมีผลบังคับใช้ จากที่เพิ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการอุดรูรั่ว ช่องว่างของธุรกิจที่มีลูกค้าคนไทยรับเงินจากไทย หนัง เพลง เกม สติ๊กเกอร์ โฆษณา แต่ไทยไม่เคยเก็บภาษีใดๆ ได้มาก่อน

ที่ต้องทำเพราะอะไร? ถ้าเป็นธุรกิจบริการออนไลน์สัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนการค้า มีรายได้ ก็เสียภาษีเงินนิติบุคคล มีรายได้ถึง 1,800,000 บาท ต้องจดทะเบียนแวต ต้องจ่ายทุกทาง แต่หากเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศ แม้มีรายได้จากเงินคนไทย ก็ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ ให้กับไทย เพราะเดิมไม่มีกฎหมายไปบังคับได้ ผลก็คือไม่เกิดความไม่เป็นธรรมกับธุรกิจไทย

ไม่ใช่แค่ไทยที่มีปัญหานี้ เป็นปัญหากับทั้งโลก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เรียกโดยย่อว่า โออีซีดี แนะนำแต่ละประเทศหาทางเก็บภาษีเริ่มจาก ภาษีแวต หรือภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน

ขณะนี้มีกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศแล้ว 60 ประเทศ ในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 7 ปีก่อน ไต้หวันเริ่มเก็บปี 60 มาเลเซีย อินโดนีเซียเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว เวียดนามก็เริ่มแล้ว มาเล อินโด เวียดนามเก็บอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับไทยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ของค่าสินค้าและบริการ ไทยก็หาแนวทางของตัวเอง จนประกาศเป็นกฎหมายออกมา ครอบคลุมการเก็บภาษีกับแพลตฟอร์มที่ให้บริการเหล่านี้ กลุ่มแรกธุรกิจที่มีรายได้จากคนไทยจ่ายค่าโฆษณาให้ เช่น เฟสบุ๊ก ยูทูป ไลน์ กลุ่มสองเป็นธุรกิจเพลง-หนังบนแพลตฟอร์มออนไลน์ รายได้บอกรับสมาชิก เช่น เน็ตฟลิกซ์ เอชบีโอแม็กซ์ สปอร์ติฟาย อีกแบบหนึ่ง คือ แพลตฟอร์มเปิดพื้นที่เป็นคนกลาง เช่น อูเบอร์ เชื่อมระหว่างคนขับขนส่ง กับผู้โดยสาร อีกแบบเป็นตัวกลางที่เป็นเอเยนต์จำหน่ายสินค้า และบริการ เช่น บุ๊กกิ้งดอทคอม อะโกด้า และอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม เช่น อเมซอน อีเบย์

กรมสรรพากร บอกว่าศึกษาจากหลายประเทศ พยายามทำให้ง่าย คือ แพลตฟอร์มที่มีรายได้ เกิน 1,800,000 บาท จากไทย ต้องจดทะเบียนแวตผ่านออนไลน์ และจ่ายแบบออนไลน์ ทำให้ง่ายที่สุดจะได้เก็บได้ แพลตฟอร์มดังๆ ได้หารือร่วมกับกรมสรรพากรไปแล้ว

ข้อสงสัยหนึ่ง คือ จะเก็บได้จริงหรือไม่ เก็บจริงได้แค่ไหน คนจ่ายเงินอยู่ไทย บิลบัตรเครดิตส่งมาจากเมืองนอก เกาะเคแมน ข้อมูลเบื้องหลังคือกรมสรรพากรของไทยไปทำความตกลงระหว่างประเทศเป็นภาคีแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี และการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ ที่รู้ว่าแต่ละแพลตฟอร์มทำธุรกิจที่ไหนบ้างเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ไทยจะมีโอกาสได้ข้อมูลว่าแพลตฟอร์มแต่ละยี่ห้อมีทรานแซคชั่นกับไทยเท่าไหร่อย่างไร คำนวณเป็นภาษีตรงกับที่จ่ายจริงหรือไม่ และเมื่อทราบรายได้แล้ว อาจนำไปสู่การจัดเก็บภาษีเงินได้ในอนาคต

ประชากรไทย 67 ล้านคน มีผลสำรวจว่าใช้อินเทอร์เน็ตถึง 75% เกินครึ่ง วัยรุ่น จนถึง 64 ปี ดูวีดีโอ ฟังเพลง วิทยุ ผ่านอินเทอร์เน็ต ปีที่ผ่านมาปีโควิด-19 ซื้อขายเพลงออนไลน์เพิ่มขึ้น 9% ซื้อขายเกม เพิ่ม 7.8% หันไปจ่ายค่าโฆษณาออนไลน์มากขึ้น 16% โอกาสเก็บภาษีมีมาก

แล้วนอกจากแพลตฟอร์มชื่อดัง แพลตฟอร์มออนไลน์ผุดขึ้นทุกวัน มีระบบมอนิเตอร์ จะไล่ตามทันได้อย่างไร อาจต้องติดตาม แต่ผลที่คาดว่าตามมาแน่ๆ ส่วนแรกการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มต่างประเทศกับไทย จะแฟร์มากขึ้น จากที่ไม่เสียภาษีต้องมาเสียภาษี ส่วนต่อมา ภาษีนี้จะส่งต่อมาที่ลูกค้าคนไทยหรือไม่ โดยปกติธุรกิจจะผลักต้นทุนส่วนนี้มาที่ลูกค้าอยู่แล้ว แต่จะผลักมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการแข่งขันธุรกิจประเภทนั้นรุนแรงแค่ไหน ในทางกลับกันหากเก็บภาษีลูกค้าจะเทียบเองว่าเจ้าไหนน่าเลือกใช้กว่ากัน

ถ้าสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีระหว่าง ผู้ประกอบการไทย กับต่างประเทศ และช่วยปิดช่องโหว่เรื่องภาษี จะเป็นประโยชน์ ซึ่งประโยชน์ของภาษีที่เห็น คือมาช่วยในช่วงโควิด-19 ทั้งตรวจโรค ทั้งวัคซีน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง