วันนี้ (31 พ.ค.2564) เวลา 11.30 น.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปราย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ว่า จากตัวเลขงบฯ ปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเสนอมา เหมือนสิ่งที่คาดหวังไว้ เป็นเรื่องตรงกันข้ามที่คาดหวัง เพราะพี่น้องซัฟเฟอร์มากเรื่อง COVID-19
รัฐบาลเสนองบฯ เหมือนกับว่าไม่มีเหตุการณ์ร้ายกับประเทศ ทั้งที่ไทยกำลังเผชิญภาวะโรคระบาด ยังไม่เห็นงบฯ หรือกำหนดยุทธศาสตร์แนวทางการคุม COVID-19 หมายความว่า การควบคุมสถานการณ์ไม่ชัดเจน และมองว่าแผนงานขาดเอกภาพ
นายสมพงษ์ระบุว่า กระทรวงกลาโหม มีงบฯ มากกว่ากระทรวงสาธารณสุขกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องดูแลประชาชนในการต่อสู้กับ COVID-19 ไทยกำลังต่อสู้กับโรค แต่รัฐบาลผลักดันงบฯ จำนวนมากกับอาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐจะเอายุทโธปกรณ์ไปต่อสู้กับโรคหรืออย่างไร
ทั้งนี้นายสมพงษ์ ตั้งคำถามว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ยินเสียงพี่น้องประชาชนที่ร้องระงมว่า เรากำลังอยู่ในสภาพที่เลวร้ายที่สุด หรือท่านมีศักยภาพที่จะบริหารเพียงแค่นี้ ไม่ได้สนใจว่าพี่น้องเดือดร้อนแค่ไหน หรืออาจแค่คิดว่าให้รักษาอำนาจในรัฐบาล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกพ้อง และรัฐกำลังจัดทำงบคนละทิศคนละทาง
ผมคิดว่ารัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณฉบับที่อยู่บนโลกคนละใบกับประชาชน ไม่อยู่บนโลกของความเป็นจริง
อ่านข่าวเพิ่ม จับตา! วันแรกอภิปรายงบฯ ปี 65 รัฐบาลหั่นงบฯ เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท

ชี้ผิดพลาดแก้ปัญหา COVID-19 กระจายวัคซีน
นายสมพงษ์ อภิปรายต่อว่า สถานการณ์ที่เสนอมาตอบโจทย์ปัญหาวิกฤตหรือไม่ ซึ่งหากย้อนในปี 63 ไทยเคยได้รับการชื่นชมว่า รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจจาก COVID-19 ได้ดี เพราะต้นทุนของประเทศดีอยู่แล้ว และระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน มีการวางระบบรองรับชัดเจนและมีการพัฒนาต่อเนื่องทุกปี
ดังนั้นในปีที่ผ่านมา รัฐบาลเพียงแต่ชื่นชมกับโรคว่า สามารถดูแลการระบาดได้ดี แต่ลืมว่าส่วนหนึ่งด้านเศรษฐกิจ มีการพังทลายของภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเอสเอ็มอี ที่ล่มจมเสียหาย
ในฐานะที่เป็นผู้นำ ท่านเลือกฟังสิ่งที่ดี ภาพที่สวยและงดงาม ท่านไม่ได้มองภาพองค์รวมของประเทศ ไม่ได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และใช้อำนาจที่มี และไม่เห็นพี่น้องประชาชนที่ต้องเอาชีวิตรอดท่ามกลางเศรษฐกิจ ที่เชื่องช้า ล่าช้า จนการระบาดรอบที่ 2 และ 3 เกิดขึ้นมา
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความไม่พร้อมในทุกด้านของประชาชน ที่ไม่สามารถอดทนกับการระบาด การหาวัคซีน COVID-19 ที่ไม่ได้วางแผนมา จนการฉีดต้องเลื่อนไปอีก นอกจากนี้ไม่สามารถเลือกวัคซีนที่ปลอดภัยได้ ความผิดพลาดนี้ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนจำกัด วัคซีนไม่พอ มาไม่ทัน แต่ก็ไม่ได้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น จนมีความสับสนและวิตก

นายกรัฐมนตรี ลั่นจัดหาวัคซีน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจง ระบุว่างบฯ ด้านการจัดการ COVID-19 มีทั้งงบประมาณประจำและงบประมาณเงินกู้ต่าง ๆ ยืนยันว่าไม่มีปัญหา
สำหรับเรื่องวัคซีนรัฐบาลดำเนินการมาตลอด ทั้งการจัดหาโดยรัฐบาล รัฐต่อรัฐ วันนี้หลายประเทศต้องการวัคซีนมากยิ่งขึ้น แต่ขณะนี้เราก็มีบริษัทที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทย รัฐบาลมีแผนหลัก แผนรอง มาต่อเนื่อง ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย
ล่าสุดยังมีวัคซีนทางเลือก ยืนยันเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนเพียงพอ ทั้งที่รัฐบาลจัดสรรและวัคซีนทางเลือก แต่ทั้งหมดต้องนำเข้าผ่านช่องทางรัฐต่อรัฐ
งบฯ กระทรวงกลาโหม 2 ปีที่ผ่านมา ปรับลดงบฯ กว่า 10,000 ล้านบาทในแต่ละปี
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่าส่วนประเด็นงบฯ กลาโหม มากกว่าสาธารณสุข ไม่เป็นความจริง เพราะกระทรวงสาธารณสุข นอกจากงบประมาณในกระทรวงแล้ว ยังมีงบประมาณอีก 3 กองทุน ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ สปสช. กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เมื่อรวมแล้วงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวมเป็น 295,681 ล้านบาท เมื่อเทียบปี 64 ลดลงเพียง 5,930 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7
เรื่องของวัคซีน การบริหารต่าง ๆ อยากทราบว่า มันจะมีวิธีการอะไรที่จะบริหารสถานการณ์ได้ดีกว่าที่ทำในวันนี้ และทำด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม ทั้งหมดต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และเป็นไปตามการจัดสรร
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลทำงบประมาณอย่างรัดกุม อ่านทุกหน้า ไม่ใช่มานั่งฟังข้อมูลดี ๆ อย่างเดียว แต่ฟังข้อมูลทุกข้อมูล เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งหมด นั่นคือการทำงานในระบอบประชาธิปไตย และย้ำว่าวันนี้ยังไม่มีการทุจริตใด ๆ ในรัฐบาล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งโพเดียมให้ ส.ส. "ยืนเดี่ยว" อภิปรายงบฯปี 65
งบฯ กลาโหม 203,282 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 11,248.6 ล้านบาท