เขาใหญ่ไปทางไหนดี​? 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกไทย มรดกโลก

สิ่งแวดล้อม
22 ม.ค. 65
20:27
712
Logo Thai PBS
เขาใหญ่ไปทางไหนดี​? 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกไทย มรดกโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“เขาใหญ่ไปทางไหนดี” ครบรอบ​ 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกไทย มรดกโลก​ อุทยานฯ​ -​ เอกชนผนึกกำลังท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน​ หวังประชาชนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม

วันนี้​ (22​ ม.ค.2565)​ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ภายใต้หัวข้อ “เขาใหญ่ไปทางไหนดี” ณ ลานเวที ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในงาน “60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกไทย มรดกโลก”

นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่​ ระบุว่า​ ตลอด​ 60​ ปี​ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทุกคนอุทิศตัวเพื่อดำเนินการ​ 3 ด้าน​ คือ​ งานป้องกันปราบปราม​ งานวิชาการ​ การดูแลสัตว์ป่า​ และการท่องเที่ยว​

 

หลังจากนี้​ จะมีการผลักดันด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม​ คือ​ การเพิ่มเส้นทางศึกษาธรรมชาติด้านล่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน​ และนำเทคโนโลยีมาใช้​ เริ่มจากจุดแจ้งเตือนภัยนับ​ 10 จัดทั่วอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่​ เพื่อให้นักท่องเที่ยวกดแจ้งเตือนเหตุช้างออก​ อุบัติเหตุ​ หรือขอความช่วยเหลือต่างๆ​

นอกจากนี้​ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะดำเนินการสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน​ โดยเฉพาะความร่วมมือกับสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่​ ซึ่งได้สนับสนุนในด้านทุนการศึกษาของลูก-หลานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าด้วย​ เนื่องจากล่าสุด​ งบฯ​ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกลดลง​ ทำให้เงินเดือนเจ้าหน้าที่ลดลงไปด้วย​

การท่องเที่ยวเขาใหญ่อย่างยั่งยืนต้องพึ่งพาความร่วมมือของทุกคน​ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ต้องช่วยกันลดขยะ​ และห้ามให้อาหารสัตว์​ ซึ่งอุทยานฯ​ เขาใหญ่ยืนยันว่าหากพบฝ่าฝืนก็พร้อมจะจับปรับจริง

4 ความเสี่ยงภาวะอันตรายเขาใหญ่หลุดมรดกโลก

ด้านสุนีย์​ ศักดิ์เสือ​ ผอ.กองการต่างประเทศ​ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช​ ระบุว่า​ มติคณะกรรมการมรดกโลก​ แสดงข้อกังวลซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่อาจจะทำให้เขาใหญ่เสี่ยงต่อการหลุดจากมรดกโลก​

อย่างแรก​ คือ​ ไม้พะยูง​ ซึ่งสถานการณ์ชาวต่างชาติลักลอบเข้ามาตัดอย่างต่อเนื่อง​ และที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด​ โดยเจ้าหน้าที่เขาใหญ่มีการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ถึง​ 70-80% และหัวหน้าอุทยานฯ​ ร่วมเดินลาดตระเวนกับลูกน้องเพื่อเป็นขวัญกำลังใจด้วย

 

ต่อมาคือ​ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ​ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่​ ลุ่มน้ำปราจีน​ บางปะกง​ ปลายลุ่มน้ำมูล​ ซึ่งมีข้อเสนอให้พัฒนาแหล่งน้ำ​ 7-8 โครงการรอบเขาใหญ่​ ทั้งไทรน้อย​ ไทรใหญ่​ คลองมะเดื่อ​ คลองพญาธาร​

ประเด็นนี้คณะกรรมการมรดกโลกมองว่าเป็นภัยคุกคาม​ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณค่าในพื้นที่

ทั้งนี้​ กรมอุทยานแห่งชาติ​สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืชมีมติขอให้กรมชลประทานชะลอทุกโครงการไว้เพื่อศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์​ โดยคาดว่าจะใช้เวลา​ 2​ ปีก่อนจะนำส่งให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาต่อไป

ข้อต่อมา​ คือ​ กฎหมายใหม่​ ที่คณะกรรมการมรดกโลกมองว่าอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อพื้นที่หรือไม่​ และข้อสุดท้ายเป็นประเด็นการท่องเที่ยว​ เนื่องจากเขาใหญ่มีการกระจุกตัวท่องเที่ยวอย่างหนาแน่น​ จึงอาจต้องบริหารจัดการเพื่อกระจายการท่องเที่ยวไปในอุทยานแห่งชาติรอบข้างด้วย

อย่างไรก็ตาม​ ที่ผ่านมาทั่วโลกมีมรดกโลก​ 1,100 แห่ง​ โดยขณะนี้หลุดออกจากมรดกโลกแล้ว​ 3 แห่ง​ เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม​ 2​ แห่ง​ และด้านธรรมชาติ 1​ แห่ง​ โดยมรดกโลกทางธรรมชาติที่ถูกถอดออกเป็นของประเทศโอมาน​ คือเขตรักษาพันธุ์ออริกซ์อาระเบีย​ เนื่องจากสัตว์ที่ชื่อว่าออริกซ์ซึ่งตอนขอขึ้นทะเบียนมีอยู่หลักร้อยคู่​ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีการพัฒนาพื้นที่สัตว์ลดจำนวนลง​ จึงถูกถอดออกเนื่องจากสูญเสียคุณค่าที่สัญญาไว้นั่นเอง

กรีนโฮเทล​ นำร่องโรงแรมสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันในงานยังมีตัวแทนจากโรงแรม​ 2​ แห่ง​ คือ​ ลีลาวลัยรีสอร์ต​ และ​เรนทรีเรสสิเด้น​ ซึ่งเป็นโรงแรมได้รับมาตรฐานกรีนโฮเทล​ โรงแรมสีเขียว​ จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม​ โดยต้องเป็นโรงแรมที่ผ่านเกณฑ์​ 6​ ข้อ​ ได้แก่

กำหนดนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม​ โดยเจ้าของกิจการต้องมีความมุ่งมั่นและกำหนดแนวทางให้ชัดเจน

พัฒนาบุคลากร​ ส่งพนักงานไปอบรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ และโรงแรมที่เคยได้รับกรีนโฮเทล

ประชาสัมพันธ์แขกและคนทั่วไป​ โปรโมทั้งโซเชียล​ และที่โรงแรม​ โดยอาจจัดโปรโมชั่นเพื่อลดการสร้างขยะ

การจัดซื้อจัดจ้าง​ เช่น​ แอร์ต้องประหยัดไฟเบอร์​ 5​ หรือกระดาษต้องย่อยสลายได้

การจัดการพลังงาน/ขยะ​ ตัดแยกขยะ​ ทำธนาคารขยะให้พนักงานนำขยะมาขาย​ในราคาที่เหมาะสม​ เพิ่มรายได้​ แล้วนำขยะเหล่านั้นไปขายต่อ​ เพื่อเก็บเงินมาเป็นโบนัสพนักงานอีกรอบ​ สร้างแรงจูงใจ

 

การทำงานกับชุมชน/ท้องถิ่น​ รับซื้อของว่างจากชุมชนมาบริการในโรงแรม​ จ้างไกด์ในชุมชนและนักเรียนช่วยเพิ่มรายได้​ รวมถึงนำผลไม้ของชาวบ้านมาบริการในโรงแรม​ ตั้งวิสาหกิจชุมชนสนับสนุนพนักงานซึ่งเป็นคนในชุมชนให้มีอาชีพเสริมด้วยการสานตะกร้า

ทั้งนี้​ ตัวแทนจากทั้ง​ 2​ โรงแรม​ ระบุว่า​ การท่องเที่ยวพร้อมกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม​ คือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน​  หากสิ่งแวดล้อมอยู่ได้​ การท่องเที่ยวและผู้ประกอบการก็อยู่ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง