มธ.คิดค้น "ชุดตรวจต้นแบบ" สแกนหา "แอนติบอดีโควิด" ในเลือด

สังคม
21 ก.พ. 65
15:48
365
Logo Thai PBS
มธ.คิดค้น "ชุดตรวจต้นแบบ" สแกนหา "แอนติบอดีโควิด" ในเลือด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการธรรมศาสตร์ เปิดตัว ต้นแบบชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด แบบเจาะเลือดปลายนิ้ว หวังช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หลังโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น-คนฉีดวัคซีนครอบคลุม คาดอีก 1-2 ปี พัฒนาสมบูรณ์

วันนี้ (21 ก.พ.2565) ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พัฒนา "ต้นแบบชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด -19 แบบเจาะเลือดปลายนิ้ว" ขึ้นมา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยคาดว่าชุดตรวจดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ได้ภายใน 1-2 ปี ต้นทุนปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกินชุดละ 100 บาท

 

สำหรับชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 แบบเจาะเลือดปลายนิ้ว จะเป็นชุดตรวจที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของการตรวจแบบ RT-PCR และ Antigen Test Kit (ATK) แต่จะมีความแตกต่างอยู่ที่ การตรวจด้วยชุดตรวจแอนติบอดีฯ จะสามารถหาเชื้อในผู้ติดโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการได้

ผศ.ดร.จีระพงษ์ กล่าวอีกว่า แอนติบอดีของผู้ที่ติดเชื้อโควิด- 19 จะพบได้ในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเท่านั้น โดยจะพบได้ทั้งในผู้ที่แสดงและไม่แสดงอาการ และจะไม่พบในส่วนประกอบของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยการตรวจหาภูมิต้านทานไวรัสชนิดแอนติบอดีนั้นจำเป็นต้องรอเวลา 3-7 วันหลังจากการติดเชื้อ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ติดเชื้อสร้างแอนติบอดีให้ขึ้นสูงถึงระดับที่จะตรวจเจอ โดยจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในสัปดาห์ที่ 2 ของการติดเชื้อ

ต้องเข้าใจก่อนว่า RT-PCR เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรม ขณะที่ ATK ใช้ตรวจหาโปรตีนของไวรัส ซึ่งทั้งสองวิธีนี้จะให้ค่าความแม่นยำอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ

 

 

ส่วนชุดตรวจแอนติบอดีฯ จะใช้ตรวจหาภูมิต้านทาน ซึ่งให้ค่าความแม่นยำในสัปดาห์ที่สอง ฉะนั้นเราจึงมุ่งหวังว่าในอนาคต เราจะใช้ชุดตรวจนี้ติดตามการติดเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นและผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ เมื่อติดเชื้อจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งทุกวันนี้เรามักจะตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการเราจะไม่ตรวจ

ในอนาคตการสุ่มตรวจด้วย ATK หรือ RT-PCR อาจไม่เหมาะสม จึงดีไซน์ชุดตรวจนี้ขึ้นมาเพื่อตรวจหาภูมิแอนติบอดีในเลือด ซึ่งจะพบในผู้ที่ติดเชื้อเท่านั้น

ผศ.ดร.จีระพงษ์ กล่าวว่า เมื่อสามารถตรวจจับผู้ติดเชื้อได้ทั้งในผู้ที่มีอาการและไม่มีอาการ จะได้ภาพของสถานการณ์การติดเชื้อจริงของประเทศที่มีความครอบคลุมและแม่นยำขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือผลการตรวจในภาพรวมจะช่วยชี้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ผลดีหรือไม่

 

การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 หลักการ คือ 1. การหาส่วนประกอบของเชื้อ คือ RT-PCR และ ATK 2. การตรวจหาภูมิต้านทานไวรัสชนิดแอนติบอดี (antibody detection) โดยวิธี immunoassay ซึ่งใช้เป็นข้อบ่งชี้การติดเชื้อทั้งจากในอดีตและการติดเชื้อปัจจุบัน

สำหรับวิธีการตรวจแอนติบอดีที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีทั้งรูปแบบ ELISA และ lateral flow immunochromatography เพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโปรตีน spike (S) หรือ nucleocapsid (N) ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งสามารถพบได้จากการติดเชื้อและจากการได้รับวัคซีนโควิด-19

ชุดตรวจแอนติบอดีที่มีในปัจจุบันจึงยังใช้ตรวจวินิจฉัยแยกภูมิคุ้มกันระหว่างที่เกิดจากการติดเชื้อและวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้

ทั้งนี้ จึงนำมาสู่โครงการวิจัยเรื่องการคัดเลือกแอนติเจนของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และการผลิตชุดตรวจภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีโดยการศึกษาการตอบสนองทางซีโรโลยีของบุคคลที่หายจากโรคโควิค-19 ที่คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง